หลากหลายไอเดียโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งดีและแย่ เราทำอะไรได้มากกว่าทางคอนกรีตหรือไม่

· 3 min read

วันนี้อยู่สบายพามาดูรายละเอียด โครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทางรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณโครงการให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ประชาชนทุกคนได้ใช้สอยร่วมกันอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ (The New Landmark) ของประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการอเนกประสงค์เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Lane) รวมถึงใช้เป็นพื้นที่สำหรับการชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ ลองมาดูรายละเอียดกันดีกว่าค่ะ

โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีระยะทางทั้งหมดตามแผนพัฒนากว่า 50 กิโลเมตร จากบริเวณสะพานพระราม 7 ถึงบริเวณพื้นที่บางกระเจ้า

Friends of the River_ภาพที่1515

 

โดยช่วงระยะที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีความยาวฝั่งละ 7 กิโลเมตร (รวม 14 กิโลเมตร) ซึ่งถ้าหากโครงการประสบความสำเร็จจะมีการสร้างทางเดินใน phase ถัดไปผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ไปถึงบริเวณบางกระเจ้า (ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของกรุงเทพมหานคร) รวมระยะทางทั้งสองฝั่งยาว 50 กิโลเมตร

Friends of the River_ภาพที่2222

 

โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อจัดพื้นที่ให้บูรณาการกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ส่งเสริมการใช้จักรยานในการสัญจร พักผ่อนหย่อนใจ และนันทนาการ การกีฬา และการท่องเที่ยว รวมทั้งด้านการเดินทางปลอดภัยริมแม่น้ำที่มีทัศนียภาพสวยงามเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ของประเทศ แต่จากรูปภาพที่นำเสนอออกมาในตอนแรกนั้น เป็นการสร้างเส้นทางจักรยานตลอดแนวริมแม่น้ำ มูลค่า 14,000,000,000 บาท (อ่านว่า!! หนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท!!!!)

ซึ่งลักษณะของโครงการเป็นโครงสร้างพื้นคอนกรีตบนตอม่อเดี่ยวที่ยื่นไปในแม่น้ำ เจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ความยาวฝั่งละประมาณ 7 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร มีขนาดของกว้างของพื้นที่ประมาณเกือบ 20 เมตร  โดยระดับพื้นทางเดินนั้นจะอยู่ระดับเดียวกับเขื่อนเดิม และเพิ่มระดับความสูงเขื่อน อีก 0.45 เมตร ซึ่งรวมความสูงเขื่อนทั้งหมดจะอยู่ที่ 3.25 เมตร จากระดับน้ำทะเลและมีลักษณะเดียวกันตลอดแนว

Friends of the River_ภาพที่17

 

ความยาวของโครงการเปรียบเทียบได้กับความยาวรอบสนามฟุตบอลมาตรฐาน 40 รอบ โดยรูปแบบการก่อสร้างมีการปักเสาเข็มลงในแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 468 ต้น ขนาดของตอม่อมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร นอกจากนี้ขนาดของทางจักรยานความกว้างฝั่งละ 12-15 เมตร สามารถเปรียบได้กับความกว้างของทางด่วนศรีรัตน์  ส่วนขนาดของพื้นที่โครงการ 168,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง

แต่ !!!!  …  นั่นก็เป็นภาพฝันในกระดาษที่รัฐบาลสร้างขึ้นมา

โดยที่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญคนไหนเป็นคนให้คำปรึกษาลุงตู่ของเรา

(จะโดนเรียกไปปรับทัศนคติไหม 5555  ^___^”)

 

ดูข้อมูลเบื้องต้นของโครงการที่เป็น Landmark ที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครกันไปแล้ว ถ้าได้ติดตามสื่อออนไลน์ก็จะเห็นว่า จะมีกระแสที่ค่อนข้างอยากจะให้พิจารณาทบทวนการออกแบบโครงการใหม่ เนื่องจากรูปแบบที่ออกมาในตอนแรกนั้นเป็นโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศ, การไหลของน้ำ ยังไม่นับรวมผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน และภูมิทัศน์โดยรอบ

วันนี้อยู่สบายเลยยกเอาการออกแบบพื้นที่ริมน้ำของประเทศต่างๆ ที่ทางกลุ่ม Friends of River  ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊คของกลุ่มสถาปนิก, นักออกแบบ, นักวางผังเมือง และผู้เกี่ยวข้องต่างๆหลายด้านในวงการออกแบบของไทย  ที่แสดงจุดยืน อยากให้คิดทบทวนถึงการสร้างทางเดินริมน้ำ ได้นำเสนอเอาไว้มาให้ชมกันค่ะ

Project Meganom, Moscow River, Russia

เป็นโครงการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมน้ำครั้งยิ่งใหญ่ของกรุงมอสโคว มีจุดประสงค์หลักในการสร้างพื้นที่สีเขียวริมน้ำที่สามารถรวบรวมศิลปวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ พื้นที่การเรียนรู้ใหม่ ไปจนถึงพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจเข้าด้วยกัน และอีกจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ก็คือ การเชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ต่างๆของเมือง โดยออกแบบให้มีการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น รวมถึงพื้นที่เปลี่ยนถ่ายของระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ได้แก่ ระบบ local metro, bus, tram, ferry ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดจุดเปลี่ยนถ่ายริมน้ำที่เชื่อมต่อการสัญจรทั้งทางรถ ทางรางและทางเรือ

Friends of the River_ภาพที่202

 

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมน้ำของกรุงมอสโควนี้จะเปลี่ยนจาก barrier เป็น link ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวเปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ยึดโยงสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้ หรือจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรเหล่านี้เข้าด้วยกัน

Friends of the River_ภาพที่101

 

LA River, LA, USA

เป็นโครงการฟื้นฟูพื้นที่แม่น้ำ LA จากเดิมที่ในปี ค.ศ.1983 มีการดาดผิวคอนกรีตตลอดแนวแม่น้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่น้ำ คนไม่รับรู้ถึงแม่นำ้ที่ไหลผ่านตัวเมืองไป จึงได้มีการจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่แม่น้ำ LA ขึ้นเพื่อรื้อเอาตลิ่งดาดแข็งออกและทำเป็นตลิ่งธรรมชาติฟื้นฟูระบบนิเวศและเป็นพื้นที่สาธารณะรวมถึงเป็นบรรยากาศที่ดีของเมือง

Friends of the River_ภาพที่303

ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวกำลังอยู่ในระยะของการประเมิณผลกระทบหรือการทำ EIA หลังจากผ่านการทำประเมินแล้ว จึงจะสามารถยื่นโครงการเข้าสภาฯเพื่อของบในการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

 

City Deck, Wisconsin, USA

โครงการ City deck เป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะริมน้ำเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนในชุมชน จากเดิมซึ่งเป็นพื้นที่โล่งร้างริมน้ำ มีการใช้งานเป็นเส้นทางสัญจรและที่จอดรถ ชุมชนถูกตัดขาดจากแม่น้ำจากระดับของคันเขื่อน จึงได้มีการให้ สถาปนิกผังเมือง และ ภูมิสถาปนิกวางผังปรับปรุงพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

Friends of the River_ภาพที่707

โครงการ City deck มีความยาวเพียง 400 เมตร แต่รูปแบบของพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตลอดแนว เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทั้งเขตพื้นที่ชุมชน และ พื้นที่พาณิชยกรรม โดยมีการใช้งานเป็นเส้นทางสัญจร ทางเดิน วิ่ง ขี่จักรยาน รวมถึงมีพื้นที่เปิดโล่งเพื่อการรวมตัวนันทนาการชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น พื้นที่จัดงานเทศกาล และงานคอนเสิร์ต

 

BIG U, New York “ Resilience ”

โครงการสวนสาธารณะ BIG U ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาะแมนฮัทตั้น ประเทศสหรัฐอเมริกา บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณที่ค่อนข้างต่ำจึงได้รับผลกระทบจากคลื่นพายุ และน้ำทะเลหนุนสูง เนื่องจากอยู่ติดทะเล จึงส่งผลให้มีแผนที่จะก่อสร้างโครงสร้างสำหรับป้องกันปัญหาดังกล่าว

Friends of the River_ภาพที่11

ผู้ออกแบบจึงมีแนวคิดในการออกแบบพื้นที่โดยสอดแทรกโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมไปกับงานภูมิสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงการใช้งานที่เหมาะสม สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ เอกลักษณ์ของชุมชน และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน และประชาชนในเมือง ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่บางส่วนเพื่อยอมให้น้ำท่วมถึงในช่วงมรสุม และสามารถใช้งานได้ในฤดูกาลอื่น โดยกระบวนการออกแบบนั้นคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนที่โครงการดังกล่าวพาดผ่าน เป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร จึงเป็นโครงการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

Friends of the River_ภาพที่20

มาดูการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในเอเชียใกล้ๆตัวกันบ้าง

Shanghai houtan park, Shanghai, China

โครงการ Shanghai Houtan Park มีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนภูมิทัศน์ที่เสื่อมโทรมให้กลายไปเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เป็นโครงการที่นำเอาพื้นที่อุตสาหกรรมร้างมาปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองเพื่อรองรับการจัดงาน EXPO และใช้เป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง นอกจากนี้มีประโยชน์ในการควบคุมน้ำท่วม

Friends of the River_ภาพที่6
เนื่องจาก Flood wall คอนกรีตที่มีอยู่เดิมได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นโครงสร้างที่แข็งและไม่มีชีวิตชีวา ความผันผวนของน้ำขึ้นน้ำลงทำให้เกิดซากขยะในพื้นที่และตัดการเข้าถึงของคนกับแม่น้ำ บริเวณพื้นที่จึงได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างบรรยากาศริมตลิ่ง และยังมีส่วนช่วยในการบำบัดน้ำอีกด้วย

Friends of the River_ภาพที่5

HAN RIVER, South Korea “ Green Network ”

Friends of the River_ภาพที่12

เป็นโครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำฮัน เนื่องจากมีการพัฒนาที่เร่งรีบ การสร้างทางเดินและทางจักรยานขนาดใหญ่ติดริมแม่น้ำ ทำให้เกิดปัญหาตามมา สูญเสียระบบนิเวศ ริมน้ำมีการตัดขาด การเข้าถึงริมแม่น้ำของเมือง การพัฒนาเมืองทำให้ทัศนียภาพเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ริมแม่น้ำฮัน คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำ การเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิม และเพิ่มการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำเข้าสู่พื้นที่สีเขียวในเมือง มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดาดแข็งเป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้ด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมพัฒนาขึ้น

 

Bishan Park, ” Hard to Soft “

โครงการสวนสาธารณะ Bishan park เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1989 ในอดีตลักษณะพื้นที่ดังกล่าวเป็นลำรางคอนกรีตที่เป็นโครงสร้างสำหรับการระบายน้ำจากปัญหาน้ำท่วม ผลจากการก่อสรางลำรางคอนกรีตทำให้ชุมชนใกล้เคียงถูกตัดขาดออกจากกัน

Friends of the River_ภาพที่9

Friends of the River_ภาพที่8

จึงมีการปรับเปลี่ยนลำรางคอนกรีตให้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับประชาชนโดยมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป้าหมายเพื่อลักษณะการจัดการน้ำไหลนองบนผิวดินอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และ เป็นพื้นที่นันทนาการสำหรับประชาชนอีกด้วย

Friends of the River_ภาพที่10

 

River of life, KL, Malaysia

โครงการ River of Life คือการจัดการประกวดแบบเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ริมแม่น้ำ klang เมืองกัวลาลัมเปอร์ โครงการมีระยะทั้งสิ้น 10.7 กิโลเมตร มีการแบ่งเขตพัฒนาเป็นทั้งสิ้น 11 เขต โดยมีจุดประสงค์ของโครงการเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการจัดการขยะ การวางผังแม่บทพื้นที่ การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพี้นที่ริมน้ำ และการพัฒนาย่านและเมือง โดยได้มีการจัดการประกวดแบบและเปิด public vote เพื่อให้ได้ผังแม่บทที่มาจากประชาชน จากนั้นจึงมีการพัฒนาแบบรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ต่อไป

Friends of the River_ภาพที่4

แน่นอนว่าเหรียญมี 2 ด้านเสมอ  ดูงานสวยๆ ที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว  เรามาดูงานพัฒนาที่ FAIL กันบ้าง !!!

Pasig River, Philippine

โครงการทางเดิน-ปั่นจักรยานริมแม่น้ำ Pasig ยาว 26 กิโลเมตร ที่กรุงมะนิลา ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็น “ที่พักอาศัย” ภายในช่วงพริบตาเดียว โดยที่บ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่ตรงทางเดินริมน้ำนั้นไม่ต้องลงเข็ม เพราะรัฐได้ลงให้แล้วในรูปแบบของทางเดินริมน้ำ เพียงแค่กั้นฝาก็ได้บ้านแล้ว

Friends of the River_ภาพที่25

ทางสำนักงานตำรวจมะนิลาเองนั้นก็ไม่สามารถจัดกองกำลังคุมเส้นทางริมน้ำได้ตลอด 26 กิโลเมตร ทางเดินสายนี้จึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนเมืองที่ไม่สามารถซื้อคอนโดราคาแพงของรัฐและเอกชนได้

Friends of the River_ภาพที่24

ส่วนภาพนี้เป็นภาพที่ทางรัฐบาลอยากจะให้เป็นค่ะ

Friends of the River_ภาพที่26

 

เห็นไหมคะว่าไม่ใช่การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในทุกรูปแบบจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน

ไปดูการออกแบบพื้นที่ริมน้ำในหลายประเทศทั้งประเทศในแทบเอเชียและยุโรปกันมาแล้ว ซึ่งแต่ละโครงการ ยกเว้นของฟิลิปปินส์นั้น ค่อนข้างจะมีกระบวนการ ขั้นตอนในการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับหลายๆด้าน ทั้งการเชื่อมต่อกันระหว่างชุมชนและประชานชนในเมือง รวมไปถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างระบบขนส่งมวลชนต่างๆในการเข้าถึงพื้นที่ พื้นที่สีเขียว ระบบนิเวศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจากตัวอย่างจะเห็นว่า สมัยก่อนนั้นต่างประเทศนิยมจะทำพื้นที่คอนกรีตริมน้ำ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่นั้นๆ กลับมาดูที่โครงการพัฒนาริมน้ำของไทยที่กำลังจะเกิดกันบ้างค่ะ ของเดิมที่ได้มาการเผยแพร่ออกมานั้นเป็นทางเดินและทางจักรยานยาวกว่าด้านละ 7 กิโลเมตร ความกว้างนั้นอยู่ที่เกือบ 20 เมตรกันเลย

Friends of the River_ภาพที่2121

ซึ่งทางกลุ่ม Friends of the River ได้มีการทำข้อเสนอเชิงกายภาพ ในการฟื้นฟูริมนํ้าให้เป็นได้มากกว่าทางเดินริมนํ้า เพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมนํ้าที่ยั่งยืนทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 6 ข้อ ได้แก่

Friends of the River_ภาพที่2323

1) การออกแบบพื้นที่ริมนํ้าซึ่งไม่ใช่เพียง “ทางเดินริมนํ้า” แต่เป็นการพัฒนาฟื้นฟูย่านต่างๆโดยรอบ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น และเป็นการรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

2) การออกแบบให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต การเก็บรักษาและพัฒนาพื้นที่ที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นที่ เช่น วิถีชีวิตชุมชนริมนํ้า วัด และโบสถ์ที่เก่าแก่ เพื่อเป็นมรดกและ เป็นแลนด์มาร์คที่แท้จริงของแม่นํ้า

3) การออกแบบที่ไม่รบกวนแม่นํ้ารวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศริมนํ้า โดยการยื่นโครงสร้างลงพื้นที่แม่นํ้าน้อยที่สุด เพิ่มการพัฒนาพื้นที่ขอบนํ้าอย่างเป็นธรรมชาติเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ และเป็นพื้นที่แก้มลิงรับนํ้า

4) การออกแบบที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยการพัฒนาพื้นที่รองรับเป็น node การเปลี่ยนถ่าย เครือข่ายการคมนาคม รถ-ราง-เรือ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ริมนํ้าได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เป็นผลให้มีการใช้งานบริเวณริมนํ้ามากยิ่งขึ้น

5) การพัฒนาพื้นที่โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการการใช้งานในแต่ละส่วน ไม่เป็นที่รกร้าง และมีคุณค่าต่อสังคม แม่นํ้า และสิ่งแวดล้อม

6) การพัฒนาเครือข่ายพื้นที่สีเขียว การเชื่อมต่อริมนํ้านั้นไม่จำเป็นต้องยื่นลงไปในแม่นํ้าเพียงอย่างเดียว การ พัฒนาพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิมให้มีการเชื่อมต่อกันโดยสะดวกจะช่วยทั้งในเรื่องการพัฒนา ชุมชนและเป็นการสร้างความน่าสนใจตอบรับกับการใช้งานพื้นที่ริมนํ้าของคนไทยมากยิ่งขึ้น เช่นการแบ่งพื้นที่ส่วนของราชการเพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน การปรับปรุงส่วนพื้นที่โล่งของศาสนสถานเพื่อ ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะรองรับงานประเพณีตามเทศกาล ปรับปรุงพื้นที่รกร้างเพื่อเป็นพื้นที่รับนํ้า และเป็นพื้นที่ ฟื้นฟูระบบนิเวศริมตลิ่ง เป็นต้น

และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอำนวยการโครงการได้เลื่อนการดำเนินการก่อสร้างจากเดือนมกราคม 2559 ไปเป็นเดือนมิถุนายน 2559 เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการออกแบบ และการขออนุญาตการก่อสร้างในพื้นที่โครงการ ซึ่งตอนนี้เองอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ คาดว่าออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเดือนมกราคม 59 โดยที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชน อยากให้โครงการดังกล่าวสำเร็จด้วยความเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ นอกจากนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครขอให้ทุกหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทราบ ตลอดจนดำเนินการในส่วนต่างๆ ให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด ยังไงก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าการที่ขยายเวลาออกไปนั้น ตัวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะออกมาเป็นในรูปแบบคอนกรีตยาวเหมือนเดิมหรือเปล่า

Cr. FB : Friends of the River , ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1441021266

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ALL COMMENT (2)
  1. ดีเหมือนกันครับ เราจะได้มีเอกลักษณ์ประจำประเทศ ทางบกเรามีต่อหม้อไปดอนเมือง ทางน้ำเรามีต่อหม้อไปพระรามเจ็ด

    อย่าบุกรุกนักเลยครับ ทะเลบุกรุกทำท่าเรือ เขาใหญ่บุกรุกทำถนน หนองงูเห่าบุกรุกทำสนามบิน นี่คิดจะบุกรุกแม่น้ำทำทางคนเดินอีกหรือ จะทำอะไรก็ทำบนฝั่งเถอะครับ วันหลังผมจะบอกข้อเสียให้ทราบ

  2. สนับสนุนโครงการดังกล่าว แต่

    1….จะต้องไ่ทำโครงการลุกล้ำลำน้ำ หรือตอกเสาต่อหม้อลงในน้ำเด็ดขาด ด้วยจะเกิดผลเสียตามมามากมาย

    2…จะต้องออกแบบโครงการเพื่อการสัญจรทางน้ำ ทางบกได้อย่างสะดวกเหมาะสม
    3..จะต้องคงไว้ซึ่งวิถีริมน้ำ วัฒนธรรม และการพัฒนาเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว
    4. โครงการจะต้องคำนึงถึง ภาวะทางชลศาสตร์ น้ำขึ้น-ลง น้ำท่วมน้ำแล้ง และการประปา อย่างถูกต้องเหมาะสม
    5..ทุกคนในประเทศนี้เข้าถึงได้และใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม ทุกคน

    ถ้า….” .โครงการตอกเสาเข็มลงในน้ำเมื่อไหร่ เหมือนใช้เข็มเล่มใหญ่แทงใจเจ้าแม่คงคาเมื่อนั้น “

back to top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใด ๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก