อยู่สบายพาไปรู้จักกับระบบแอร์ประเภทต่างๆที่ Daikin Solution Plaza ครบถ้วนความรู้เรื่องแอร์ในที่เดียว
· 2 min readตั้งใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องระบบปรับอากาศในอาคาร รวมถึงในบ้านและคอนโดมาพักใหญ่ๆครับ แต่ยังไม่เจอแหล่งที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดแบบครบๆ สักที พอดีได้มีโอกาสไปดูระบบปรับอากาศที่ Daikin Solution Plaza ซึ่งมีข้อมูลและรายละเอียดของระบบปรับอากาศประเภทต่างๆ เอาไว้ค่อนข้างครบเลยทีเดียว ถ้าใครเป็นสถาปนิก วิศวกร รวมถึงบรรดาช่างแอร์ในตำนานทั้งหลายคงจะพอทราบเกี่ยวกับระบบแอร์ต่างๆกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนทั่วไป อาจจะยังนึกไม่ออกว่าระบบแอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีอะไรบ้างนอกจากแอร์ Wall Type ที่ติดผนังห้องที่บ้านหรือที่คอนโด วันนี้ลองมาดูกันครับ …
ที่ตั้งของ Daikin Solution Plaza นั้นอยู่ในซอยอ่อนนุช 55/1 ในโซนบริเวณเดียวกับสำนักงานขายและบริการหลังการขาย Daikin ครับ ด้วยทำเลนั้นต้องยอมรับอย่างนึงว่าเดินทางยากอยู่ ต้องเป็นคนที่ตั้งใจมาจริงๆ ไม่ใช่เดินผ่านแล้วแวะดูเฉยๆ ไม่ได้อยู่กลางเมืองหรือย่านศูนย์การค้า แต่วันนี้เราก็แวะไปเก็บข้อมูลมาฝากกันครับ
แอร์ไดกิ้น นั้นเป็นแบรนด์เก่าแก่จากทางญี่ปุ่นอายุกว่า 90 ปีแล้ว ไดกิ้นทำตลาดไปทั่วโลก โดยที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2511 (แน่นอนว่าคนเขียนบทความนี้ยังไม่เกิด) โดยกลุ่มสยามกลการเป็นผู้นำเข้ามาครั้งแรก ก่อนที่ปี 2518 จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นสยามไดกิ้นครับ
เริ่มเข้าไปทางด้านในเลย มาดูที่นี่ได้ข้อมูลกลับไปแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆครับ
เข้ามาด้านในทางด้านซ้ายมือก็จะเป็นประวัติของทางไดกิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถัดจากนั้นไปก็จะเป็นมุมของความรู้และข้อมูลล้วนๆ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่เราจะมาดูกันในวันนี้ครับ
ก่อนอื่นสรุปให้อ่านกันคร่าวๆ ว่าระบบแอร์ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 5 แบบ ครับ
- แบบแอร์แขวนผนัง (Wall Type หรือ Split Type)
- แบบสกายแอร์ (Sky Air) ประกอบไปด้วยแอร์แบบฝังฝ้า (Cassette Type) , แอร์แขวนเพดาน (Ceiling Type) และแอร์ท่อลม (Duct Type)
- แบบระบบ VRV (Variable Refrigerant Volume) / หรือ VRF (Variable Refrigerant Flow)
- แอร์แบบตู้ตั้งพื้นขนาดใหญ่ (Package Air-Conditioner)
- ระบบปรับอากาศแบบชิลลเอร์ (Chiller System)
จริงๆแล้วทุกแบบนั้นใกล้ตัวเราหมด เพียงแต่อาจจะไม่รู้ว่าแบบไหนเรียกชื่อว่าอะไรเท่านั้นเอง
ปกติแล้วแอร์ทุกแบบจะมีส่วนประกอบหลักๆ 2 ส่วน คือ Fan Coil Unit หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านว่าคอยล์เย็น เป็นตัวที่เป่าลมเย็นออกมาให้เราในห้องนั่นเอง และอีกส่วนคือ Condensing Unit ที่เรียกว่าคอยล์ร้อน ซึ่งติดตั้งอยู่นอกบ้าน ถ้าอยู่คอนโดก็แขวนเอาไว้ที่ระเบียง ซึ่งเจ้าตัวนี้เป็นส่วนที่ผู้ออกแบบคอนโดหลายๆโครงการควรจะต้องคำนึงถึงอย่างมาก (แค่การเลือกรูปแบบของแผงบังแอร์ และวัสดุ รวมถึงมุมในการติดตั้งแอร์ ก็มีผลต่อดีไซน์ของหน้าตาภายนอกของคอนโดอย่างเยอะ!) ทั้งนี้การเลือกขนาดของแอร์มาติดตั้งนั้นก็จะต้องดูที่หลายปัจจัยครับ ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ห้อง, จำนวนผู้อยู่อาศัย และลักษณะการใช้งานเป็นหลัก ในท้องตลาดปัจจุบันก็มีเริ่มตั้งแต่แอร์ขนาด 8,000 BTU ไปจนถึง 30,000 BTU กันเลยทีเดียว
ถัดมาเราจะมาดูแอร์แบบฝังฝ้ากันบ้างครับ แบบนี้เรียกภาษาหล่อๆเป็นทางการว่า Cassette Type ก็เป็นแอร์อีกแบบที่สามารถเอามาใช้ในบ้านได้ และหลายๆที่สำหรับคอนโดที่ราคาแพงและต้องการความหรูหราก็มักจะเลือกใช้แอร์แบบฝังฝ้านี่แหละครับ เพราะดูเรียบร้อยและสวยงามกว่าแบบแขวนผนังเยอะ ติดปุ๊ปห้องที่ขายดูแพงขึ้นมาทันที แต่แน่นอนว่าราคาของแอร์แบบฝังฝ้านั้นก็แพงกว่าด้วย … เครื่องปรับอากาศแบบ Cassette Type นี้ ขนาด BTU ที่เห็นกันเยอะๆในท้องตลาด จะเริ่มตั้งแต่ 18,000 BTU ไปจนถึง 48,000 BTU เลยทีเดียว
หน้าตาของตัวคอยล์เย็นของแบบ Cassette Type นั้นจะมีหลายแบบ การเลือกใช้นั้นก็ขึ้นอยู่กับทิศทางลมที่เราจะต้องการให้ไปครับ โดยปกติก็จะเลือกว่าจะปล่อยทิศทางแอร์ 1 ด้าน (สำหรับการฝังฝ้าที่ดร็อปลงมาหรือการติดตรงมุมห้องด้านใดด้านหนึ่ง) , ทิศทางแอร์ 2 ด้าน (สำหรับการติดแอร์ตามทางเดิน) และแบบทิศทางแอร์ 4 ด้าน เป็นแบบที่ต้องการให้ลมกระจายรอบห้อง สำหรับของ Daikin นั้นมีระบบพิเศษคือเป็นแอร์แบบ round flow ลมเย็นเป่าออกรอบ 360 องศา ซึ่งตัวเป็นเจ้าเดียวที่ทำและจดสิทธิบัตรเอาไว้เรียบร้อยครับ
สำหรับใครที่จะติดตั้งแอร์แบบแบบฝังฝ้านี้ก็อย่าลืมเช็คระยะเหนือฝ้าด้านบนด้วยว่าพอหรือเปล่า ต้องเช็คว่าสถาปนิกหรือวิศวกรออกแบบมาเหลือพื้นที่ตรงนี้อีกเท่าไหร่ ถ้าระยะพื้นที่หลือน้อยมากก็จำเป็นจะต้องใช้รุ่นที่บางลงเป็นแบบแขวน เพราะจะใช้พื้นที่ด้านบนน้อย ประมาณ 15 เซ็นติเมตร (ไม่รวมตัวเครื่องแอร์อีกประมาณ 20 เซ็นติเมตร) เพราะฉะนั้นต่ำสุดก็ต้องมี 35 เซ็นติเมตรหล่ะครับ
ถัดมาเราจะมาดูระบบที่ซับซ้อนและใหญ่ขึ้นครับ เป็นระบบ VRF (Variable Refrigerant Flow) ซึ่งถ้าเป็นของ Daikin จะมีชื่อของตัวเองเรียกว่า VRV (Variable Refrigerant Volume) จริงๆแล้วไม่ว่าจะเป็น VRF หรือ VRV ก็คือระบบเดียวกันครับ ระบบนี้จะเริ่มใช้ในอาคารและพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น คอนเซ็ปหลักของ VRV ก็คือคอยล์ร้อน 1 ตัว จะสามารถต่อเข้ากับคอยล์เย็นได้หลายตัว (ปกติถ้าเป็นแบบ Wall Type หรือ Cassette Type ก็มักจะต่อกันแบบ 1 ต่อ 1) โดย VRV ของไดกิ้นเอง คอยล์ร้อน 1 ตัว จะสามารถต่อกับคอยล์เย็นได้มากสุดถึง 64 ตัว เลย
Condensing Unit ของระบบ VRV ก็มีทั้งแบบที่ติดตั้งภายนอกอาคารและภายในอาคาร ซึ่งความแตกต่างก็ขึ้นอยู่กับระบบการระบายความร้อนว่าใช้น้ำหรือใช้อากาศเป็นตัวระบายความร้อน ถ้าใช้อากาศเป็นตัวระบายความร้อนจะเรียกว่า VRV Air-Cooled ซึ่งจะต้องตั้งอยู่ด้านนอกอาคาร และต้องการการระบายอากาศที่ดี ส่วนอีกแบบคือระบายความร้อนด้วยน้ำ หรือเรียกว่า VRV Water-Cooled
ถ้าเทียบข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 แบบแล้ว แบบระบายความร้อนด้วยน้ำนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบที่จำนวน BTU เท่ากันครับ นอกจากนี้ยังมีค่าการประหยัดพลังงานที่ดีกว่าและยังสามารถอยู่ในตัวอาคารที่เป็นห้องปิดได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งไว้ข้างนอกให้ดูไม่สวยงาม แต่ข้อจำกัดก็คืออาคารจะต้องมี Cooling Tower อยู่แล้วด้วย ซึ่งก็มักจะต้องเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ทำได้หล่ะครับ (ถ้าเป็นแบบ VRV Air-Cooled ไม่ต้องมี Cooling Tower ก็ได้)
รูปนี้เป็นคอยล์ร้อนแบบ VRV Air-Cooled ครับ
ส่วนนี่เป็นคอยล์ร้อนของระบบ VRV Water-Cooled มีผ่าระบบให้ดูแผงวงจรด้านในด้วย
ของเล่นวันนี้ที่เราไปทดลองเป็นระบบ VRV ที่ใช้แฟนคอยล์ชุด round flow with sensing ของ Daikin ครับ ระบบนี้เราจะสามารถโปรแกรมตั้งเซนเซอร์เอาไว้ได้หลากหลาย ในตัวอย่างนั้นเราแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน คือ A B C และ D ตัวเทคโนโลยีนี้จะสามารถกำหนดได้ว่า … ถ้ามีคนขี้ร้อนนั่งอยู่โซน A เป็นประจำ พอเขาเดินไปที่โซน A ปุ๊ป ให้แอร์ปรับองศาใบพัดเป่าลมมาเลยทันทีเมื่อเซนเซอร์จับได้ ส่วนถ้ามีคนขี้หนาวชอบนั่งประจำอยู่โซน B พอคนนั้นเดินผ่านมานั่งที่โซน B ปุ๊ป ใบพัดแอร์จะปรับเปลี่ยนทิศทางแอร์ไม่ให้ตกมาตรงโซน B เลย ระบบทั้ง 4 ด้านนั้นตั้งค่าแยกกันได้แบบอิสระ นอกจากนั้นยังสามารถตั้งได้ว่าถ้าเซนเซอร์จับไม่เจอคนภายในกี่นาที ระบบจะเข้าใจโดยอัตโนมัติว่าไม่มีคนอยู่ ก็จะปรับอุณหภูมิขึ้นให้เพื่อประหยัดพลังงาน อันนี้เจ๋งดีครับ ดู Interactive และตอบสนองกับผู้ใช้งานและความต้องการต่างกันในแต่ละจุดของสเปซได้จริงๆ
มีระบบเสริมอีกตัวที่น่าสนใจเรียกว่า Heat Reclaim Ventilator (HRV) ครับ โดยปกติแล้วเวลาที่เรานั่งทำงานที่ออฟฟิศ ร่างกายของเราก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเรื่อยๆใช่ไหมครับ ทีนี้พอปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงระดับนึง ความง่วงก็จะตามมา แล้วเราก็ … หลับ! Zzzzzzz …
นี่ก็เป็นเหตุผลนึงที่เราเอาไว้อ้างกับเจ้านายได้เวลาเผลอนั่งหลับตอนบ่ายๆ ( #ไม่ใช่ละ #โดนตัดเงินเดือน )
เมื่อไหร่ที่เจ้านายติดเครื่องนี้ ข้ออ้างของพวกเราก็จะหมดไป เพราะเจ้าเครื่องนี้จะมาพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ และเมื่อมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ถึงระดับนึง เครื่อง HRV นี้ก็จะทำงานอัตโนมัติ โดยดูดอากาศจากด้านนอกและด้านในห้องมาแลกเปลี่ยนกันที่ Heat Exchanger ตรงกลาง แล้วค่อยเติมอากาศเย็นเข้าในห้อง (ทีนี้ข้ออ้างของการง่วงนอนตอนบ่ายก็จะหมดไป TT^TT) นอกจากนั้นเจ้าระบบ HRV นี้ก็ยังช่วยกรองสิ่งสกปรกหรือฝุ่นที่จะเข้ามาในห้องครั้งนึงก่อน ทำให้ยืดอายุการใช้งานของแอร์ได้อีกด้วยครับ
ส่วนสำหรับห้องที่ต้องการรักษาความสะอาดมากๆ อย่างเช่นโรงพยาบาลหรือในห้องผ่าตัดเล็ก, ห้องทำแผล ที่จำเป็นต้องควบคุมเรื่องฝุ่น เชื้อโรค และแบคทีเรีย ก็จะควรเลืิอก Fan Coil แบบ Clean Room ที่มีฟิลเตอร์กันฝุ่นและกรองเชื้อโรคบางอย่าง แต่ข้อจำกััดของแบบนี้คือพอมีฟิลเตอร์ขวางไว้ ทำให้พื้นที่เป่าลมเย็นออกมาถูกจำกัดเอาไว้ด้วย ตัว Fan Coil Unit จึงต้องมีขนาดใหญ่กว่าปกติเยอะมาก เมื่อเทียบที่ขนาด BTU เท่ากัน อย่างเครื่องนี้ยาวเกือบ 2 เมตร สูงเมตรกว่า แต่เป็นขนาด 15,000 BTU เท่านั้นเอง
ซูมดู filter ใกล้ๆครับ
นอกจากนั้นสำหรับอาคารที่ต้องใช้น้ำร้อน เช่น โรงแรม, ร้านอาหาร, โรงพยาบาล ก็จะมีระบบ VRV IV Heat Recovery Hot Water รองรับ ระบบนี้จะมี Serpentine Heat Exchanger โดยจะเอาขดลวดน้ำยาแอร์พันรอบท่อน้ำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกับน้ำที่ไหลผ่านท่อ ทำให้น้ำที่จะเอาไปต้มนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นก่อนในระดับนึง ประหยัดพลังงานในการต้มน้ำต่อไปได้ และแอร์ก็ระบายความร้อนได้ดีขึ้นด้วยครับ ปัจจุบันนี้คอนโดบางแห่งก็เริ่มใช้ระบบนี้เข้ามาบ้างแล้ว
ตัวอย่างขดลวดนำความร้อนที่พันรอบท่อน้ำ
มาถึงระบบปรับอากาศอีกแบบที่เรียกว่าชิลเลอร์ (Chiller Plant System) ซึ่งใช้กับระบบอาคารขนาดใหญ่ครับ ระบบนี้จะกระจายความเย็นได้อย่างรวดเร็วและกระจายไปยังจุดต่างๆที่ต้องการได้ง่าย ด้วยการทำงานที่จะให้น้ำเป็นสื่อกลางการกระจายความเย็น โดยการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิระหว่างน้ำยาแอร์และน้ำเสียก่อน แล้วจึงส่งน้ำกระจายไปยังระบบเพื่อทำความเย็นในจุดต่างๆต่อไป ซึ่งระบบนี้ก็จะมีการระบายความร้อนทั้งแบบระบายด้วยน้ำและระบายด้วยอากาศ ระบบนี้มีขนาดใหญ่มากตั้งแต่ 100 ตัน ไปจนถึงสูงสุดขณะนี้ที่ 2,600 ตันครับ
เครื่อง Chiller นี้ จะต้องมีห้องเฉพาะแยกออกมา ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ชั้นล่างของอาคารเนื่องจากต้องการพื้นที่ในการติดตั้งเยอะและมีน้ำหนักมาก โดยนอกจากห้อง Chiller ที่ชั้นล่างของอาคารแล้วก็ยังจะต้องมีห้อง AHU (Air Handling Unit) กระจายอยู่ในแต่่ละชั้นที่ต้องการปรับอากาศด้วย …. ส่วนข้อมูลเชิงเทคนิคลึกๆนั้น ขอไว้เล่าแยกในโอกาสหน้าครับ วันนี้เราเอาแบบเข้าใจคอนเซ็ปและภาพรวมไปก่อน
จริงๆเครื่อง AHU ที่โชว์ใน Daikin Solution Plaza นี้เป็นของจริงจำลองการทำงานด้วยเสียง กราฟิก และระบบ Interactive กับคนดู เพื่อให้เข้าใจระบบการทำงานเฉยๆครับ และถ้าใครเคยเข้าไปให้ห้อง Chiller ของอาคารจริงขนาดใหญ่ก็จะเห็นว่าเครื่องใหญ่กว่านี้เยอะครับ …
นี่เป็นรูปตัดแยกของคอมเพรสเซอร์แบบต่างๆในระบบของ Chiller System ครับ เหมาะมากสำหรับใครที่เรียนวิศวะเครื่องกลอยู่
รู้จักระบบปรับอากาศต่างๆ ผ่านโปรดักส์ที่ Daikin Solution Plaza กันไปเกือบหมดแล้ว ก็มานั่งพักมุมนี้ครับ จะมีจอ interactive ให้ทดลองดูว่าเราควรจะเลือกแอร์แบบไหนให้เหมาะกับที่อยู่ของเรา ช่วยให้เราตัดสินใจเลือกแอร์ให้เหมาะกับห้องต่างๆของเรา เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก แล้วยังปรับตำแหน่งการติดตั้งแอร์ในจุดต่างๆของห้องแต่ละประเภทนั้นควรติดตั้งจุดไหน ถ้าติดจุดไหนแล้วพื้นที่ไหนจะเป็นจุดที่ได้ความเย็น พื้นที่ไหนจะเป็นจุดอับ ตรงนี้ก็เพลินๆดีครับ ลองดูตัวอย่างแล้วเอาไปปรับใช้ติดกับห้องในบ้านหรือในคอนโดได้
อันนี้เป็นเครื่องฟอกอากาศครับ ใช้กับห้องขนาดประมาณ 40 ตารางเมตร ในเชิงการใช้งานนั้นควรวางตั้งไว้กับโต๊ะจะทำงานได้ดีกว่าวางไว้ที่พื้น
มีการตัดภายในให้ดูระบบฟิลเตอร์กรองในชั้นต่างๆ
ตรงนี้เป็นเครื่อง Super Multi Hot Water โดยเอาพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำความเย็น นำกลับมาใช้ทำความร้อนภายในห้องอีกครั้งโดยเอามาเป็นน้ำอุ่นสำหรับอาบหรือซักผ้าได้ เพื่อช่วยในการประหยัดพลังงานครับ ระบบนี้ยังมี Anti bacteria mode ที่จะสั่งงานอัตโนมัติทุกวันจันทร์ เพิ่มอุณหภูมิน้ำให้สูงขึ้น 70 องศาเซสเซียส เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียในน้ำ เครื่องที่เห็นนี่ประมาณ 30,000 BTU ขนาดไม่ใหญ่ ติดตั้งง่าย ประหยัดพื้นที่ดีครับ
มาถึงตัวพระเอกอีกตัวของแอร์ Daikin คือแอร์แบบแขวนผนังในชื่อว่า “URUSARA7” ชื่อฟังดูแล้วนึกถึงหนังซุปเปอร์ฮีโร่มากู้โลกอะไรแบบนั้น แอร์ตัวนี้เป็นการรื้อระบบและวิธีคิดของแอร์แบบเดิมๆใหม่หมด จุดที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆในตลาดก็คือ URUSARA7 นั้นสามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ (Humidity) ภายในห้องได้ด้วย โดยปกติแล้วแอร์ทั่วไปจะควบคุมได้แต่อุณหภูมิอย่างเดียว การควบคุมความชื้นสัมพัทธ์นั้นทำให้ความรู้สึกของคนใช้งานนั้นเข้าสู่ภาวะความสบาย (Comfort Zone) ได้มากขึ้นหล่ะครับ พูดให้เห็นภาพก็คืออย่างวันที่ฝนตก ความชื้นในอากาศก็จะเยอะเป็นพิเศษ เราก็จะรู้สึกเหนียวตัว แล้วเราก็จะลดอุณหภูมิแอร์ลงเพื่อให้รู้สึกสบายมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นด้วย แต่เจ้า URUSARA7 มีโหมดความคุมความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งพอกดปุ่ม เครื่องก็จะปรับความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องให้สมดุล เราก็จะสบายตัวแบบไม่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม นอกจากนั้น URUHARA7 ก็ยังสามารถฟอกอากาศได้ในตัว ซื้อเครื่องนี้เครื่องเดียวก็ใช้ได้ครบ
แต่สิ่งนึงที่ยังอาจจะต้องรอกันต่อไปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ก็คือเรื่องราคา ที่ตอนนี้ยังสูงอยู่มากกกก … ขนาด 9,000 BTU ราคาก็เฉียดๆหกหมื่่นบาท ส่วน 18,000 BTU นี่ราคาร่วม 90,000 บาทเลยทีเดียว ยกเว้นแต่ถ้าใครอยากได้แอร์ที่มีระบบ Inverter อยู่แล้วและต้องการซื้อเครื่องฟอกอากาศด้วย อันนี้ราคาก็อาจจะไม่ได้ต่างจาก URUSARA7 มากนัก
มีห้องทดลองให้ลองเข้าไปสัมผัสดูความแตกต่างระหว่างแอร์ระบบปกติของ Daikin กับเจ้า URUSARA7 ด้วยครับ
มีห้องอัดเสียง เอ๊ย! ห้อง Sound Check ให้เข้าไปทดลองความดังของเสียงเครื่องปรับอากาศ Daikin แล้ววัดค่าความดังออกมาเป็นเดซิเบลให้เห็นกันเลย
นั่นก็เป็นภาพรวมของศูนย์ Daikin Solution Plaza ที่อยู่สบายแวะมาเดินเล่นวันนี้ครับ ที่นี่ค่อนข้างเหมาะกับคนที่อยากเข้าใจเรื่องของการทำงานของระบบปรับอากาศในเชิงลึกมากทีเดียว ใครสนใจก็มาดูกันได้ครับ มีวิทยากรพาทัวร์พร้อมให้ข้อมูลครบถ้วน ติดต่อ Daikin Solution Plaza โทร 02-715-3200
และสุดท้ายแล้ว ….
วันนี้ ณเดช ก็ขอลาไปก่อนนะคร้าบ
#ผิดๆ
1.อยากได้ cassette type 36000BTU (ไม่เอาระบบ inverter)แนะนำรุ่นไหนครับ
2.FCRN กับ FCNQ ต่างกันอย่างไร