ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560
· ~ 1 min readคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวันนี้ (19 เมษายน 2559) ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะใช้ในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป โดยมีการประบปรุงเงินได้และบัญชีอัตราภาษี รวมถึงปรับเพิ่มค่าลดหย่อนให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
เกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นภาษีเงินได้
- หากมีเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ ที่เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เพียงประเภทเดียว
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เปลี่ยนเป็นเมื่อมีเงินได้เกิน 100,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เปลี่ยนเป็นมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท
- หากมีรายได้ประเภทอื่นด้วยนอกจากการจ้างงาน หรือมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่จากการจ้างงาน
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เปลี่ยนเป็นเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาท เปลี่ยนเป็นมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท
ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย
3. เดิมเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 ต่อปี แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เปลี่ยนเป็นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 50 ต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
4. เดิมเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เปลี่ยนเป็นสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ไม่เกินร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้
ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน
5. หักค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
6. หักค่าลดหย่อนของคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
7. หักค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละไม่เกิน 15,000 บาท และได้ไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท และไม่จำกัดจำนวนคน และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร จากเดิมที่เคยลดหย่อนได้ 2,000 บาทต่อคน
8. ในกรณีที่คู่สมรสต่างมีเงินได้ทั้งคู่ สามารถหักลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 120,000 บาท
9. กองมรดกเดิมหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
10. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมหักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
ปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามขั้นบันได้ ดังนี้
- เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10%
- เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 15%
- เงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 20%
- เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,0000 บาท เสียภาษีในอัตรา 25%
- เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,0000 บาท เสียภาษีในอัตรา 30%
- เงินได้สุทธิ 5,000,001 บาท ขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 35%
(ภาพประกอบจาก กรมสรรพากร)
ซึ่งการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่า 26,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วจะได้รับการยกเว้นภาษี จากเดิมที่จะได้รับการยกเว้นเมื่อมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท
การปรับโครงสร้างทั้งหมดจะใช้ในปีภาษี 2560 โดยกรมสรรพากรคาดว่าจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง 32,000 ล้านบาท แต่จะช่วยทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพปัจจุบันมากขึ้น