
นายอาคมเติม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟม. และ กทม. ในการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีมติเห็นชอบและมอบหมายให้คณะกรรมการประเมินทรัพย์สินฯ เร่งรัดดำเนินการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการดังกล่าว รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเดินรถเชื่อมต่อจากสถานีแบริ่งไปสถานีสำโรง เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเดินทาง และมอบหมายให้ กทม. รฟม.กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางในการเดินรถและการลงทุนในอนาคตของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน โดยกำหนดให้แนวเส้นทางสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์ (ถนนจรัญสนิทวงศ์) ก่อนในระยะแรก เพราะโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนแม่บทที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อปี พ.ศ. 2553 และเป็นโครงการตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่เชื่อมโยงการเดินทางจากฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ จึงควรเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2565 ตามเป้าหมาย โดยที่จะสามารถลดค่าก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มลงได้ประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท เนื่องจากการลดซ้ำซ้อนกับแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน จากสถานีศาลายา-สถานีศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งเชื่อมต่อกันที่สถานีบางขุนนนท์
คจร.ยังเห็นชอบให้การก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) เป็นทางระดับลอยฟ้า ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่องพื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน เนื่องจากหากก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินระยะทางเพียง 2 กม. จะใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งในแนวดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีโครงการรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นระบบลอยฟ้าอยู่จะเกิดการควบคุมได้ยาก ซึ่งสายสีทองจะเป็นระบบสนับสนุน (Feeder) ที่มีความสำคัญในการช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายหลักได้ ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา-ถนนประชาธิปก ที่มีแนวเส้นทางอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ขณะนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป
