Colliers เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (คอนโด, ออฟฟิศ, ค้าปลีก) ในช่วงครึ่งแรกปี 2560 และคาดการณ์ครึ่งปีหลัง
· ~ 1 min readตลาดอสังหาริมทรัพย์สามตลาดหลักอย่าง คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2560 ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้มีการขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมาเท่าใดนัก โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่มีโครงการเปิดขายใหม่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาและจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตลาดอาคารสำนักงานก็ยังคงเห็นความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานที่มาจากบริษัทในประเทศไทยและต่างชาติแบบต่อเนื่อง พื้นที่ค้าปลีกเองก็มีอัตราการเช่าที่ค่อนข้างสูงเรียกได้ว่าเกือบเต็ม 100% ในหลายๆ ศูนย์การค้า
นายสัญชัย คูเอกชัย รองกรรมการผู้จัดการ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ตลาดของอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานใช้เช่ายังคงไปได้ดี โดยมีอัตราว่างเพียง 7-8% และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นโครงการใหม่ๆ ทำเป็นรูปแบบสิทธิการเช่า (Leasehold) มากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินในเมืองที่สูงขึ้นมาก ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในระยะ 8-10 ปี ข้างหน้า จะมีพื้นที่ของอาคารสำนักงานในตลาดที่ปัจจุบันกำลังพัฒนาโครงการอยู่ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.1 ล้านตารางเมตร เมื่อรวมกับพื้นที่อาคารสำนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 8.5 ล้านตารางเมตร ทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าในกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่ากว่า 9.6 ล้านตารางเมตร โดยราคาค่าเช่าก็ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขต CBD จากความต้องการของทั้งบริษัทในไทย และบริษัทจากต่างชาติ
โดยในช่วงปี 2560-2562 คาดว่าจะมีอุปทานใหม่ (New Supply) ในบริเวณรอบนอก CBD เกิดขึ้นประมาณ 253,700 ตร.ม. และหลังจากปี 2562 เป็นต้นไป คาดว่าจะมี New Supply ขยับมาเกิดใน CBD มากขึ้น ประมาณ 1,104,500 ตร.ม.
สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทค้าปลีก ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในแง่ของพื้นที่โครงการ เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่เยอะ แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กก็เผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่วนคอมมูนิตี้มอลล์มีการขยายตัวลดลง และต้องพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น
และแม้ว่าตลาดพื้นที่ค้าปลีกในหลายๆ ประเทศจะได้รับผลกระทบจากช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ในประเทศไทยยังคงไม่เห็นผลกระทบแบบชัดเจนมากนัก อีกทั้งผู้ประกอบการโครงการค้าปลีกต่างๆ ก็มีการพัฒนาระบบช้อปปิ้งออนไลน์มารองรับและได้รับความนิยมจากคนไทยในระดับหนึ่ง ในส่วนของอุปสงค์ก็เช่นกันเพราะประเทศไทยเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและทำงาน แบรนด์ต่างชาติต่างๆ จึงยังให้ความสนใจในประเทศไทยอยู่
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 มียูนิตเปิดขายทั้งหมด 23,984 ยูนิต (ไตรมาสแรก 10,379 ยูนิต และไตรมาสที่ 2 13,605 ยูนิต) โดยมียอดขายเฉลี่ยได้ประมาณ 50% โดยคาดหมายว่า ณ สิ้นปี จะมีคอนโดมิเนียมเปิดขายทั้งหมด 45,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 15%
โดยในปีนี้ทำเลที่มีคอนโดมิเนียมเปิดตัวอย่างคึกคัก ได้แก่ แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำลังก่อสร้างอยู่ โดยดีเวลลอปเปอร์ทั้งหลายเริ่มขยับออกไปพัฒนาโครงการในรอบนอกมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินใจกลางเมืองที่สูงขึ้น โดยหันไปโฟกัสกับตลาดที่ราคาอยู่ในช่วง 50,000-100,000 บาท/ตร.ม. มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการถูกปฎิเสธสินเชื่อจากธนาคารอยู่มากเช่นกัน
ทั้งนี้ยังพบว่าตัวเลขของยูนิตคอนโดมิเนียมเหลือขายในแนวรถไฟฟ้าบางสายมีการ Over Supply เกิดขึ้นบ้าง และต้องใช้ระยะเวลาในการดูดซับอีกระยะหนึ่ง โดยมีตัวเลขยูนิตเหลือขายในแนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ ดังนี้
- แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง (นนทบุรี) 3,969 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง (กรุงเทพฯ) 910 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 3,978 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบัน (BTS) 11,863 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ 2,439 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ 4,307 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู 1,875 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1,708 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปัจจุบัน (MRT) 3,779 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 1,205 ยูนิต
- แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง 1,156 ยูนิต
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดนั้นยังคงชลอตัวต่อเนื่อง และยังไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ๆ ที่มากระตุ้นให้น่าสนใจ
- คอนโดมิเนียมพัทยา ยังคงชะลอตัว ผู้ซื้อบางส่วนซื้อเพื่อการลงทุน และบางส่วนไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์
- คอนโดมิเนียมหัวหิน คอนโดชะอำ ยังคงเติบโตแบบช้าๆ
- คอนโดมิเนียมเขาใหญ่ ขยายตัวช้าลง เพราะมียูนิตเปิดขายมากเกินไป
- คอนโดมิเนียมเชียงใหม่ เป็นทำเลที่น่าสนใจที่สุดเมื่อเทียบกับทำเลหัวเมืองอื่นๆ เนื่องจากมีกำลังซื้อจากชาวจีนสูง
“แม้ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทัพย์จะมีการขยายตัวไม่มาก แต่ในภาพรวมแล้วยังไม่ได้ชะงักหรือว่าเกิดปัญหาแบบชัดเจน แม้ในตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครที่มียูนิตโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเลก็ยังคงมีอีกหลายทำเลที่มีโครงการใหม่เปิดขายต่อเนื่องซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการต่างพยายามหาช่องว่างและหาโอกาสในการเปิดขายโครงการใหม่ให้ตรงกับความต้องการและกำลังซื้อ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ออกไปก่อนเพื่อรอให้กำลังซื้อในภาพรวมดีขึ้น อีกทั้งรอให้งานพระราชพิธีสำคัญในเดือนตุลาคมปีนี้ผ่านไปก่อน ในขณะที่ตลาดอื่นๆ ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพราะเป็นทั้งตลาดอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกเป็นธุรกิจที่เน้นการลงทุนในระยะยาว” นายสุรเชษฐ กล่าวสรุป