จาก โกลเด้นแลนด์ สู่ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย)” กับพันธกิจใหม่ ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอีก 3 ปี
· ~ 1 min readเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) กับพันธกิจใหม่ ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ของผู้นำตลาดอสังหาฯ ด้านรายได้ ในอีก 3 ปี เตรียมพร้อมเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ในปี 2564 ทั้งหมด 24 โครงการ มูลค่ารวม 29,800 ล้านบาท ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าครบทุกเซ็กเมนต์ ตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมบ้าน สวย ครบ คุ้ม บนทำเลที่ดี ตั้งเป้ารายได้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีนี้
คุณแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ จากการที่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอรตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” เข้าซื้อกิจการของ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “GOLD” หรือ “GOLDENLAND” ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย โกลเด้นแลนด์ จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” และยังคงเป็นผู้นำอันดับ Top 5 ของประเทศสำหรับกลุ่มธุรกิจเพื่อที่อยู่อาศัย มีโครงการที่พักอาศัยคุณภาพสูงรวม 60 โครงการ
ผลการดำเนินงานเฉพาะกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ มียอดรับรู้รายได้ 10,894 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเป็นที่น่าพอใจ สำหรับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในสถานการณ์ โควิด-19 เช่นนี้ โดยคาดว่าจะมียอดรับรู้รายได้ในปีนี้เกือบ 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2563) บริษัทได้เปิดโครงการใหม่ไปแล้ว 3 โครงการ เป็น นีโอ โฮม บ้านแฝด 2 โครงการ และทาวน์โฮม 1 โครงการ มูลค่ารวม 3,050 ล้านบาท โดยยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”
พันธกิจ ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ด้านรายได้ ใน 3 ปี
4 พันธกิจ หรือ 4 Missions ที่บริษัท ได้วางไว้ใน 3 ปีนี้ (พ.ศ. 2564-2566) คือ
- พันธกิจแรก ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ของผู้นำตลาดอสังหาฯ ด้านรายได้
- พันธกิจที่ 2 เป็นทางเลือกอันดับที่ 1 ในใจลูกค้า สำหรับคนที่มองหาทาวน์โฮม ทําเลในเมือง
- พันธกิจที่ 3 เป็นอันดับที่ 1 ในการทำบ้านแฝด (นีโอ โฮม)
- พันธกิจที่ 4 ขยายตลาดต่างจังหวัด เป็นผู้นำตลาดต่างจังหวัดด้านยอดขายสูงสุด
อย่างเช่น ที่นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย และพัทยา สามารถทำยอดขายในวันเปิดจองได้สูงเกินกว่า 500 ล้านบาท
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 ตั้งเป้ารายได้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีนี้ มีสัดส่วนรายได้จากทาวน์โฮม 42% นีโอ โฮม บ้านแฝด 23% บ้านเดี่ยว 21% และโครงการต่างจังหวัด 14% โดยมีแผนจัดซื้อที่ดินประมาณ 20 แปลง ในงบประมาณ 10,720 ล้านบาท วางแผนเปิดโครงการใหม่ 24 โครงการ มูลค่า 29,800 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการทาวน์โฮม 9 โครงการ มูลค่า 9,700 ล้านบาท โครงการนีโอ โฮม บ้านแฝด 5 โครงการ มูลค่า 7,000 ล้านบาท โครงการบ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่า 11,000 ล้านบาท และโครงการต่างจังหวัด 3 โครงการ มูลค่า 2,100 ล้านบาท
กลยุทธ์พิชิตเป้าหมาย ปี 2564
วางกลยุทธ์การตลาดเพื่อพิชิตเป้าหมาย แบ่งตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ
- ทาวน์โฮม ขยายไปในทำเลใหม่ เติมโครงการในทําเลเดิม เน้นทําเลที่ดีกว่าคู่แข่งทั้งตลาด และรักษาคุณภาพการก่อสร้าง ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ยังคงเน้นด้านฟังก์ชั่นเด่น
- นีโอ โฮม เป็นบ้านแฝด ที่เน้นทำเลใกล้เมือง ฟังก์ชั่นระดับบ้านเดี่ยว และราคาไม่แพง
- บ้านเดี่ยว ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเหมาะกับที่ดินที่ราคาแพงขึ้น โดยเน้นคุณภาพโครงการ ฟังก์ชั่น และความหรูหรา ให้เหมาะกับ Life Style & Socio-Economic Status-SES และ Brand หรือชื่อโครงการให้เป็นที่รู้จัก
- ต่างจังหวัด เน้นทําเลที่ดีกว่าคู่แข่งทั้งตลาด มุ่งเป้าสู่การเป็นผู้นําทําเลเมืองสำหรับโครงการต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทุกระดับความต้องการของลูกค้า
กลยุทธ์เล็กๆ ที่แอบเฉลย
แผนงานในโครงการต่างๆ สำหรับ ปี 2564
- ซิตี้โฮม (City Home) ทำเลในเมือง เน้นการเข้าถึงสะดวก ให้เป็นอีกทางเลือกของ Condo Penthouse หรือ Luxury Condo
- Condo เน้นเจาะกลุ่มคนทํางานในเมือง (Real Demand) บนทําเลที่ไม่สามารถทําทาวน์โฮมได้ โดยมีฟังก์ชั่นและดีไซน์ สวย คุ้มค่า
แผนพัฒนาโปรแกรม
วางแผนพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่างๆ สำหรับพนักงานให้ครอบคลุมในทุกเรื่องทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อที่ดิน การบริหารงานก่อสร้าง การขายและการตลาด สินเชื่อ และการดูแลลูกค้าหลังโอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งความรวดเร็ว แม่นยำและทันสมัย นอกจากนี้ ยังได้เริ่มจัดทำโปรแกรม Home+ (โฮมพลัส) เพื่อลูกค้า เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม และบุคคลทั่วไป เป็นแอปพลิเคชันสำหรับดูแลลูกค้าตั้งแต่ ก่อนซื้อ ส่งมอบ หลังเข้าอยู่ พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์สุดพิเศษต่างๆ อีกด้วย
คุณแสนผิน สุขี กล่าวว่า “ในปีหน้า 2564 มองว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตกว่าปีนี้ แต่ตลาดยังมีการแข่งขันสูง โปรโมชั่นยังคงดุเดือด เพราะทุกบริษัทต้องการเติบโต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำก็เป็นตัวส่งเสริมความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่องขณะที่ หนี้สินครัวเรือนยังคงสูง นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 ยังทําให้เกิดความไม่แน่นอน ทําให้เกิดการชะลอซื้อ สภาวะแบบนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องมีความรอบคอบและแม่นยำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องปรับตัวและตอบรับให้ทันกับทุกสถานการณ์ เป็นยุคของมืออาชีพอย่างแท้จริง”