Trade War ประเด็นการเมืองโลกเดือด : อำนาจ ศรัทธา กับภาระที่อาจไปตกอยู่ที่ตัวเอง
· ~ 1 min readหนึ่งในประเด็นร้อนแรง ที่ทำเอาตลาดปั่นป่วนกันไปหมด เราว่าหลายคนน่าจะได้ยินข่าวที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจและการลงทุน อาจจะยังงง ๆ และไม่คุ้นเคยกับคำนี้ ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้เราจะมาสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังกันแบบสั้น ๆ เข้าใจง่าย
ย้อนกลับไปเมื่อในสมัย Trump 1.0 ก็เคยใช้มาตรการนี้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐ โดยขึ้นภาษีศุลกากรและประกาศสงครามการค้ากับจีนไปแล้วรอบหนึ่ง และพอมาถึง Trump 2.0 ก็กลับมาในเวอร์ชันที่รุนแรงและก้าวร้าวกว่าเดิม ก่อนจะประกาศ “Liberation Day Tariffs” เมื่อ 2 เมษายน ที่ผ่านมา
สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์เริ่มต้น จากการที่ทรัมป์ประกาศทยอยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศ แต่เก็บหนักสุด ๆ เลย คือ จากจีน → จีนไม่ยอม พร้อมโต้กลับประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ → ตลาดสหรัฐปั่นปวนคนแห่ซื้อสินค้านำเข้า → ตลาดหุ้นสหรัฐตกแรงทันที 10% → ทรัมป์ประกาศเลื่อนวัน → ทรัมป์โพสข้อความเชิงชวนให้ “เข้าซื้อ” ขณะที่ตลาดหุ้นกำลังปรับตัว → หุ้นดีดกลับขึ้นมา 10% เรียกว่าปั่นป่วนตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ทั่วโลกแบบกลับไปกลับมา แถมยังทำให้ราคาทองคำซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยขึ้นไปทำ All Time High อีกด้วย
ประเด็นวิเคราะห์ที่น่าสนใจ
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง นี้ก็อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่ทั้งสหรัฐและคนทั้งโลกต้องเผชิญ Mission to the moon podcast EP.2388 ได้พูดเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับแพทเทิร์นที่คล้ายคลึงกันในเหตุการณ์ Nixon Shock ที่เกิดขึ้นในปี 1971 กับการขึ้นภาษีนำเข้า 10% เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้โลกทั้งใบต้องยอมรับ “ระเบียบใหม่” ที่ดอลลาร์คือผู้ครองอำนาจเด็ดขาด ในขณะที่ยุคทรัมป์แม้จะเดินหมากคล้ายกัน แต่โลกตอนนี้อาจจะไม่ได้ยอมจำนนเหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยบริบทโลกที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบเริ่มมองหา “ตัวเลือกอื่น” เพิ่มมากขึ้น
มองภาพระยะสั้นอาจจะยังไม่มีสกุลเงินที่แข็งแกร่งมากพอที่จะมาแทนเงินดอลล่าได้ แต่ในอนาคตก็อาจจะเกิดการรวมกลุ่มหรือทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การผันผวนของเงินดอลล่าที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลง และเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ จากเดิมที่สหรัฐ “กำหนดกติกา” โลกอย่างเบ็ดเสร็จ วันนี้อาจจะกำลังกลายเป็นผู้ “แบกรับ” ระบบที่ตัวเองสร้างขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วทั้งโลกรวมถึงไทยเรา จะได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง?
ผลกระทบระดับโลก เริ่มตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานที่สะดุด การลงทุนชะลอตัว ไปจนถึงความไม่แน่นอนที่ทำให้บริษัทข้ามชาติต้องปรับฐานการผลิต ไม่พึ่งพาจีนมากเกินไป และย้ายไปยังประเทศที่เสี่ยงน้อยกว่า เช่น เวียดนาม อินเดีย หรือแม้แต่ไทยเอง นี่อาจเป็น “โอกาส” ที่ดูดีในระยะสั้น แต่ถ้าภาวะไม่แน่นอนยืดเยื้อ เศรษฐกิจเปิดอย่างไทยก็ย่อมได้รับแรงสั่นสะเทือนจากตลาดโลกเช่นกัน
ในด้านภาค อสังหาริมทรัพย์ไทย สิ่งที่เราเริ่มเห็นคือ นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายความสนใจจากจีนมาสู่ประเทศที่มีความเสถียรมากกว่า ทำให้ตลาด Luxury Condo และ อสังหาฯ เพื่อการลงทุน ในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าชาวจีน เวียดนาม และฮ่องกง
สุดท้ายแล้ว ในภาคอสังหาฯ ฝั่งไทยในระยะสั้น อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ แต่ “บรรยากาศ” การลงทุนของโลก และการโยกย้าย Supply Chain จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ยังคงต้องจับตา