อัปเดต (2020) ความคืบหน้ารถไฟฟ้า 13 สายทั่วกรุงเทพฯ

· 10 min read

รถไฟฟ้าผ่านหน้าบ้านใคร ความสบายก็บังเกิดค่ะ หลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ)  เปิดใช้บริการไปเมื่อสิงหาคม 2559  ส่วนสายสีน้ำเงินก็วิ่งครบลูปเป็นสายแรกไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา  ล่าสุดรถไฟฟ้าสายสีทอง และสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย วัดพระศรีมหาธาตุ – คูคต) ก็กำลังทดสอบวิ่งรถจริง เพื่อเตรียมให้บริการในช่วงสิ้นปี 2563 นี้ ประชาชนย่านฝั่งธนฯ และโซนกรุงเทพเหนือก็คงรอกันใจจดใจจ่อทีเดียว ส่วนบ้านใครใกล้รถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ อยู่สบายรวบรวมข้อมูลมาดูกันค่ะว่า รถไฟฟ้าสายละสายนั้นมีความคืบหน้าและกำหนดเสร็จกันเมื่อไหร่ ในบทความ “โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 13 สายเพื่ออนาคต” นี้มาให้ดูกันค่ะ

แผนการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เดิมมีทั้งหมด 10 เส้นทาง รวมระยะทาง 464 กิโลเมตร เป็นนโยบายมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร มาจนถึงปัจจุบันมีการปรับแผนเป็นทั้งหมด 13 เส้นทาง ระยะประมาณ 566 กิโลเมตร ทำให้ปัจจุบันถนนหลายสายในกรุงเทพฯ  ได้ปิดถนนเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้ากันอยู่ ถ้าว่ากันตามแผนงานในอุดมคติเลย ก็วางแผนไว้ว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด 13 สายนี้ภายในปลายปี พ.ศ. 2570 ค่ะ  แต่เอาจริงๆ แล้วเชื่อเถอะว่าไม่เสร็จหรอก  มีโรคเลื่อนแน่ๆ

เรื่องสัมปทานกับกับเจ้าของโครงการแต่ละสายนั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปยังมีการสับสนพอสมควร  ถ้าให้อธิบายง่ายๆ คือ รถไฟฟ้า BTS สายหลักที่พวกเรานั่งกันอยู่ทุกวันนี้ คือ สายสุขุมวิท  สายสีลม  นั้นเป็นสัมปทานเดิมที่ทางกรุงเทพมหานครให้กับ BTS  ลงทุนหมด ทั้งโครงสร้าง ทั้งตัวรถ ทั้งราง ทั้งตัวสถานี  ส่วน BTS ต่อขยายออกไปที่ไปถึงแบริ่งและบางหว้านั้น ทางกรุงเทพฯ ลงเงิน  แต่จ้าง BTS วิ่งรถและดำเนินงานทั้งหมด  จากนั้นให้เก็บเงินโดยส่งให้ บริษัท กรุงเทพ ธนาคม จำกัด ซึ่งกรุงเทพฯ ถือหุ้นทั้งหมดค่ะ

ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายเฉลิมรัชมงคล ในปัจจุบันนั้นเป็นของ MRTA ซึ่งให้สัมปทานไปกับบริษัท BMCL ไปก่อสร้างและเดินรถรวมถึงบริหารจัดการทั้งหมด (ปัจจุบัน BMCL ควบรวมกิจการกับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (ฺBECL) กลายเป็นบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM)    แต่ถ้าเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (บางใหญ่ – บางซื่อ) นั้นทาง BEM นั้นจะได้เดินรถอย่างเดียวไม่ได้เป็นสัมปทานทั้งหมดเหมือนกับรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล นะคะ  และสำหรับสายอื่นๆ ต่อจากนี้ก็จะเป็นทาง MRTA ที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ค่ะ

ก็แบ่งเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ (Bangkok Metro Public Company, BMCL) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีแดงอ่อน วิ่งตามแนวรถไฟเดิม ส่วนสายรถไฟฟ้าสีอื่นๆจะเป็นส่วนของบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพเป็นผู้ดำเนินการค่ะ

อ้อ.. แล้วก็เกือบลืมว่า สายสีแดงทั้งหมดนั้นจะเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยนะคะ

มาดูผังรถไฟฟ้าสายที่เปิดให้บริการแล้วกันค่ะ (คลิกรูปเพื่อขยาย)

รถไฟฟ้า ล่าสุด

 

รถไฟฟ้าเมื่อครบทุกสาย (คลิกรูปเพื่อขยาย)

โครงการรถไฟฟ้า 2563

ในปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 5 สาย 113 สถานี ครอบคลุมระยะทางกว่า 157 กิโลเมตร ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นความคืบหน้าต่างๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (สถานีสำโรง-เคหะฯ) เมื่อปี 2561 ส่วนปี 2562 ก็ขยายไปทางฝั่งเหนือ (สถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว) เช่นเดียวกับ MRT สายสีน้ำเงิน ที่ทยอยเปิดให้บริการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2562 ไล่ตั้งแต่ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ, ท่าพระ-บางหว้า, บางหว้า-หลักสอง, เตาปูน-สิรินธร และ สิรินธร-ท่าพระ จนปัจจุบันวิ่งวนครบลูปรอบกทม.แล้ว  แต่ก็มีบางสายที่เป็นโรคเลื่อน อย่างสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่จากเดิมตั้งเป้าก่อสร้างเสร็จปลายปี 2562 เลื่อนเปิดบริการไปปี 2563  และพอวันเวลาผ่านไป ก็ขอเลื่อนไปอีกเป็นปี 2564 ค่ะ

สายรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (วัดพระศรีมหาธาตุ – เคหะฯ) หรือสายสุขุมวิท  ส่วนแรกแล้วเสร็จเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2542 ส่วนต่อขยายเปิดให้บริการล่าสุดปี 2563
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (สนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า) หรือสายสีลม  ส่วนแรกแล้วเสร็จเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2542 ส่วนต่อขยายเปิดให้บริการล่าสุดปี 2556
  • รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ท่าพระ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ – หลักสอง) หรือสายเฉลิมรัชมงคล  ส่วนแรกแล้วเสร็จเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 ส่วนต่อขยายเปิดให้บริการล่าสุดปี 2562
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่ – เตาปูน) หรือสายฉลองรัชธรรม  เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2552 เสร็จแล้วเปิดใช้งานวันที่ 6 สิงหาคม 2559  ส่วนช่วง บางซื่อ-ราฎร์บูรณะ  ซึ่งถือเป็นสายสีม่วงทางฝั่งใต้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
  • รถไฟฟ้าสายเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สุวรรณภูมิ – พญาไท)  ส่วนแรกแล้วเสร็จเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2553

นอกจากรถไฟฟ้า 5 สายข้างต้นแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน)  ที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดใช้บริการ ต้องรอเชื่อมระบบเข้ากับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ก่อนค่ะ

 

สายที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

  1. รถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ส่วนต่อขยาย (วัดพระศรีมหาธาตุ – คูคต) เริ่มก่อสร้าง 2558 คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ 16 ธันวาคม 2563
  2. รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี – คลองสาน) เริ่มก่อสร้าง 2561 คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ 16 ธันวาคม 2563
  3. รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี – มีนบุรี) เริ่มก่อสร้าง 2561 คาดว่าแล้วเสร็จ กรกฎาคม 2564
  4. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) เริ่มก่อสร้าง 2561 คาดว่าแล้วเสร็จ กรกฎาคม 2564
  5. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์รังสิต – หัวลำโพง) คาดว่าแล้วเสร็จ กรกฎาคม 2564  ซึ่งจะเปิดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้
  6. รถไฟฟ้าสายสีส้ม  (บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – แยกร่มเกล้า)  คาดว่าแล้วเสร็จ ปี 2566
  7. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ส่วนต่อขยาย (เตาปูน – ครุใน) คาดว่าแล้วเสร็จ ปี 2570
  8. รถไฟฟ้าสายเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย (ท่าอากาศยานดอนเมือง – พญาไทลาดกระบัง – ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการสรุปรูปแบบโครงการ คาดว่าแล้วเสร็จ ปี 2567-2570 
  9. รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564 – 2565
  10. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ตามแผนกำหนดเริ่มต้นก่อสร้างปี 2563-2564 และกำหนดจะเปิดให้บริการปี 2568 

สายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

โครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง เน้นรองรับแหล่งที่อยู่อาศัย และสถานที่ราชการจากจังหวัดนนทบุรีสู่กรุงเทพฯ ดำเนินการโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 46.6 กิโลเมตร งบประมาณ 164,136 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงสถานีคลองบางไผ่ – เตาปูน เป็นช่วงแรกที่เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559  เริ่มจากสถานีเตาปูน สร้างเชื่อมกับสถานีบางซื่อ ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน วิ่งออกไปทางจังหวัดนนทบุรี

แผนที่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง

แผนที่ MRT สายสีม่วง

 

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงอีกเส้นนึงเป็นสายสีม่วงฝั่งใต้ ช่วงสถานีเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ จะต่อจากสถานีเตาปูนของช่วงแรก วิ่งยาวลงไปทางตอนใต้ของจังหวัดกรุงเทพฯ จบที่สถานีราษร์บูรณะ มีทั้งหมด 17 สถานีค่ะ  (ไม่รวมสถานีเตาปูน) แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี (ตั้งแต่สถานีรัฐสภาถึงสถานีสำเหร่)  และสถานียกระดับ 7 สถานี (ตั้งแต่สถานีดาวคะนองถึงสถานีครุใน)  ส่วนความคืบหน้าตอนนี้คาดว่าจะมีการประมูลสายนี้ภายในเดือนมีนาคม 2564 ค่ะ

รถไฟ้า MRT สายสีม่วงใต้

เว็บไซต์โครงการ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีบางใหญ่–เตาปูน

ระยะทาง : 23 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 16 สถานี
งบประมาณ : 60,019.5 ล้านบาท
ความคืบหน้า : 100% (พฤศจิกายน 2558)
คาดว่าแล้วเสร็จ : เปิดให้บริการ 6 สิงหาคม 2559

  • สถานีคลองบางไผ่
  • สถานีตลาดบางใหญ่
  • สถานีสามแยกบางใหญ่
  • สถานีบางพลู
  • สถานีบางรักใหญ่
  • สถานีท่าอิฐ
  • สถานีไทรม้า
  • สถานีสะพานพระนั่งเกล้า
  • สถานีแยกนนทบุรี 1
  • สถานีบางกระสอ(ศรีพรสวรรค์)
  • สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  • สถานีกระทรวงสาธารณสุข
  • สถานีแยกติวานนท์
  • สถานีวงศ์สว่าง
  • สถานีบางซ่อน
  • สถานีเตาปูน

ช่วงสถานีเตาปูน – ราษฎบูรณะ

ระยะทาง : 23.6 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับและใต้ดิน
สถานี : 17 สถานี
งบประมาณ : 101,112 ล้านบาท
ความคืบหน้า : ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2570

  • สถานีรัฐสภา
    (ใต้ดิน) เชื่อมกับอาคารรัฐสภาใหม่
  • สถานีศรีย่าน
  • สถานีสามเสน
  • สถานีหอสมุดแห่งชาติ
  • สถานีบางขุนพรหม
  • สถานีผ่านฟ้า
    (เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม)
  • สถานีวังบูรพา
    (เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)
  • สถานีสะพานพุทธฯ
  • สถานีวงเวียนใหญ่
  • สถานีสำเหร่
  • สถานีจอมทอง
    (เริ่มยกระดับ)
  • สถานีดาวคะนอง
  • สถานีบางปะกอก
  • สถานีประชาอุทิศ
  • สถานีราษฎร์บูรณะ
  • สถานีพระประแดง
  • สถานีครุใน

สายสีแดงอ่อน ศาลายา-ตลิ่งชัน-บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก

รถไฟฟ้าสายสีแดงจัดเป็นรถไฟชานเมือง  สายนี้จะวิ่งตามทางรถไฟ ให้ประชาชนที่อยู่ชานเมืองและปริมณฑล เข้ามาในกรุงเทพฯ ด้านทิศตะวันออก-ตะวันตกได้สะดวก ไปเชื่อมกับสถานีรถไฟชานเมืองต่างๆ เพื่อแก้ปัญหารถติด ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 54 กิโลเมตร งบประมาณ 99,550 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 ช่วง เริ่มจากขยายจากบางซื่อไปทางทิศตะวันตก จากสถานีบางซื่อ ไปจบที่สถานีบ้านฉิมพลี จะเป็นช่วงแรกเรียกว่า ช่วงสถานีบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่ก็ยังไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าวิ่ง  ต้องรอเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางซื่อก่อน  อีก 5 ส่วนที่เหลือ คือ

ช่วงสถานีบางซื่อ – มักกะสัน เริ่มจากบางซื่อเช่นกันแต่วิ่งตัดเข้าไปในตัวเมือง แล้วเลี้ยวออกไปทางทิศตะวันออก คู่ขนานกับ Airport Rail Link

ช่วงสถานีมักกะสัน – หัวหมาก ก็จะสร้างต่อจากมักกะสันไปถึงหัวหมาก

ช่วงสถานีบางบำหรุ – สถานีมักกะสัน จะวิ่งผ่านกลางตัวเมืองเชื่อมสถานีบางบำหรุ สถานีมักกะสันเข้าด้วยกัน ช่วงนี้ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการนะคะ  

ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช จะวิ่งจากสถานีตลิ่งชันไปที่ศิริราช 

ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา จะต่อจากสถานีบ้ามฉิมพลีไปทางทิศตะวันตกอีกค่ะ

รถไฟฟ้า สายสีแดง

ช่วงสถานีบางซื่อ – ตลิ่งชัน

ระยะทาง : 15.26 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 7 สถานี
งบประมาณ : 6,243 ล้านบาท
ความคืบหน้า : สร้างเสร็จแล้ว  (ยังไม่เปิดใช้บริการ)

  • สถานีกลางบางซื่อ
    (เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม, Airport Rail Link, สายสีน้ำเงิน)
  • สถานีบางซ่อน
    (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง)
  • สถานีสะพานพระราม 6
  • สถานีบางกรวย – กฟผ.
  • สถานีบางบำหรุ
    (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม,สายสีแดงเข้ม)
  • สถานีชุมทางตลิ่งชัน – เริ่มลดระดับลงพื้นดิน
    (เชื่อมกับสายสีส้ม, รถไฟชุมทางตลิ่งชัน)
  • สถานีบ้านฉิมพลี
    (สถานีรถไฟบ้านฉิมพลี)

ช่วงสถานีบางซื่อ – มักกะสัน
ช่วงมักกะสัน – หัวหมาก

ระยะทาง : 25.50 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ใต้ดิน – ลอยฟ้า
สถานี : 8 สถานี (ไม่รวมสถานีบางซื่อ)
งบประมาณ : 39,176 ล้านบาท 
ความคืบหน้า : ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี อยู่ในระหว่างการเตรียมการเปิดประมูล บางช่วงรวมงานโยธาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน
คาดว่าแล้วเสร็จ : n/a

  • สถานีประดิพัทธ์
  • สถานีสามเสน
    (ร่วมกับสายสีแดงเข้ม, สถานีรถไฟสามเสน)
  • สถานีราชวิถี
    (ร่วมกับสายสีแดงเข้ม, เชื่อม Airport Rail Link)
  • สถานีพญาไท
    (เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม, Airport Rail Link)
  • สถานีมักกะสัน
    (ยกระดับ, เชื่อม Airport Rail Link)
  • สถานีศูนย์วิจัย
  • สถานีรามคำแหง
    (เชื่อม Airport Rail Link)
  • สถานีหัวหมาก
    (เชื่อม Airport Rail Link, เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลือง)

ช่วงสถานีตลิ่งชัน-ศิริราช

ระยะทาง : 6.5 กม.
โครงสร้าง : N/A
สถานี : 4 สถานี
งบประมาณ : –
ความคืบหน้า : ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี อยู่ในระหว่างการเตรียมการเปิดประมูล
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2565

  • สถานีตลิ่งชัน
  • สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน
  • สถานีบางขุนนนท์
  • สถานีศิริราช

ช่วงสถานีตลิ่งชัน – ศาลายา

ระยะทาง : 12 กม.
โครงสร้าง : N/A
สถานี : 3 สถานี
งบประมาณ : –
ความคืบหน้า : ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี อยู่ในระหว่างการเตรียมการเปิดประมูลในเดือนมิถุนายน 2563
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2565

  • สถานีกาญจนาภิเษก
  • สถานีธรรมสพน์
  • สถานีศาลายา

สายสีแดงเข้ม บางซื่อ – รังสิต – ธรรมศาสตร์

สายสีแดงเข้ม บางซื่อ – หัวลำโพง 

เน้นให้บริการประชาชนที่อยู่ทิศเหนือ – ใต้ ของกรุงเทพฯ ตามเส้นทางรถไฟ อนาคตจะต่อไปยังจังหวัดอยุธยา และจังหวัดราชบุรีดำเนินดำเนินการโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทางทั้งหมด 80.8 กม. งบ 147,770 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 ช่วง 2 ช่วงแรกขึ้นไปทางเหนือคือ ช่วงสถานีบางซื่อ – รังสิต (กำลังก่อสร้างอยู่) โดยที่สถานีบางซื่อ  จะสามารถเปลี่ยนไปต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ได้ด้วย และอีกสายหนึ่งคือ ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะต่อขึ้นไปทางทิศเหนือ  ส่วนที่เหลือจะสร้างยาวลงมาทางทิศใต้ จากสถานีบางซื่อ – หัวลำโพง ค่ะ

เดิมทีนั้นต่อจากหัวลำโพงมา จะมีอีก 2 ช่วงคือ ช่วงสถานีหัวลำโพง – บางบอน และ ช่วงสถานีบางบอน – มหาชัย  แต่ว่าถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่จำนวนนึง  ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมพับเส้นทางจากหัวลำโพงไปมหาชัยออกไปก่อนค่ะ  ทำให้สายสีแดงที่วิ่งจากเหลือลงใต้จะสิ้นสุดที่หัวลำโพงก่อนเท่านั้น ในขณะที่ชาวมหาชัยเองก็ตั้งข้อสงสัยว่าใครกันหนอที่เป็นคนคัดค้าน

รถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม
เว็ปไซต์โครงการ : คลิกที่นี่

เส้นบางซื่อ-รังสิต

ระยะทาง : 26.3 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 10 สถานี (รวมสถานีบางซื่อ)
งบประมาณ : 69,305 ล้านบาท
ความคืบหน้า : กำลังก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2564

  • สถานีบางซื่อ
  • สถานีจตุจักร
  • สถานีวัดเสมียนนารี
  • สถานีบางเขน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สถานีทุ่งสองห้อง
  • สถานีหลักสี่
    (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีชมพู)
  • สถานีการเคหะฯ ดอนเมือง
  • สถานีดอนเมือง
  • สถานีหลักหก
  • สถานีรังสิต

ช่วงสถานีบางซื่อ – หัวลำโพง

ระยะทาง : 11 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 5 สถานี (ไม่รวมสถานีบางซื่อ)
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : รอเข้าที่ประชุมครม.
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2567

  • สถานีสามเสน
  • สถานีราชวิถี
    (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน)
  • สถานียมราช
    (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีส้ม)
  • สถานียศเส
    (เชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส)
  • สถานีรถไฟหัวลำโพง
    (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที)

ช่วงสถานีรังสิต–มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระยะทาง : 10 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 4 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : เตรียมเปิดประมูล
คาดว่าแล้วเสร็จ : N/A

  • สถานีคลองหนึ่ง
  • สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • สถานีเชียงราก
  • สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สายสีน้ำเงิน บางซื่อ – ท่าพระ

สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง – หลักสอง

สายสีน้ำเงิน หลักสอง – พุทธมณฑลสาย 4

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT นี้ลักษณะของเส้นทางจะวิ่งเชื่อมต่อกันได้วนเป็นวงรอบกรุงเทพฯ นะคะ ดำเนินการโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย (รฟม.) เชื่อมแหล่งชุมชนและย่านธุรกิจตามแนวถนนวงแหวนชั้นในรัชดาภิเษก ช่วงแรกเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547  วิ่งตั้งแต่หัวลำโพง-บางซื่อ  ส่วนในปัจจุบันขยายออกไปรวม 48 กิโลเมตร ทั้งเส้นทางใต้ดินและยกระดับ จากปลายทางด้านทิศเหนือที่สถานีเตาปูน ไปยังถนนจรัญสนิทวงศ์ และแยกท่าพระ และจากปลายทางด้านทิศใต้ สถานีหัวลำโพง ไปยังท่าพระและหลักสอง ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางเชื่อมต่อกันที่สถานีท่าพระ ก่อให้เกิดเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าวงแหวน และมีโครงการที่จะสร้างต่อไป 8 สถานี จนถึงพุทธมณฑลสาย 4 เข้าจังหวัดสมุทรสาครในอนาคตค่ะ

ส่วนต่อขยาย สายสีน้ำเงิน

เว็ปไซต์โครงการ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีบางซื่อ – ท่าพระ

ระยะทาง : 11.08 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า – ใต้ดิน
สถานี : 10 สถานี (ไม่รวมสถานีบางซื่อ)
งบประมาณ : –
ความคืบหน้า : เปิดใช้บริการแล้ว ปี 2562

  • สถานีเตาปูน
  • สถานีบางโพ
    (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง)
  • สถานีบางอ้อ
  • สถานีบางพลัด
  • สถานีสิรินธร
  • สถานีบางยี่ขัน
  • สถานีบางขุนนนท์
  • สถานีแยกไฟฉาย
  • สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13
  • สถานีท่าพระ

ช่วงสถานีหัวลำโพง–บางแค

ระยะทาง : 11 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 11 สถานี
งบประมาณ : –
ความคืบหน้า : เปิดใช้บริการแล้ว ปี 2562

  • สถานีวัดมังกรกมลาวาส
  • สถานีวังบูรพา
  • สถานีสนามไชย
  • สถานีอิสรภาพ
  • สถานีท่าพระ
  • สถานีบางไผ่
  • สถานีบางหว้า
  • สถานีเพชรเกษม 48
  • สถานีภาษีเจริญ
  • สถานีบางแค
  • สถานีหลักสอง

ช่วงสถานีบางแค–พุทธมณฑลสาย 4

ระยะทาง : 8 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 4 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : ระงับแผนชั่วคราวรอประเมินจำนวนผู้โดยสาร
คาดว่าแล้วเสร็จ : –

  • สถานีพุทธมณฑลสาย 2
  • สถานีทวีวัฒนา
  • สถานีพุทธมณฑลสาย 3
  • สถานีพุทธมณฑลสาย 4

สายสีเขียวเข้ม หมอชิต – คูคต – วงแหวนรอบนอกตะวันออก

สายสีเขียวเข้ม แบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ – บางปู

เป็นโครงการที่สร้างต่ออจากรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทเดิม ในทางทิศเหนือและทางใต้ของกรุงเทพฯ ต่อขยายออกไปทั้ง 2 ทิศทาง  แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงสถานีหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต วิ่งต่อจากสถานีหมอชิตเดิมไปตามถนนพหลโยธินขึ้นเหนือไปจบที่สถานีคูคต และ ช่วงสถานีแบริ่ง – สมุทรปราการ จะต่อจากสถานีแบริ่ง ลงไปทางจังหวัดสมุทราปราการ ดำเนินการโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกทม. ระยะทางรวม 66.5 กม.

สำหรับช่วง หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต มีการเปิดใช้ไปแล้วบางส่วน ได้แก่ช่วง หมอชิต-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดใช้ไปเมื่อปี 2562 และช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-วัดพระศรีมหาธาตุ เปิดใช้ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563  ส่วนช่วงที่เหลือจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-คูคต จะเปิดใช้บริการในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นี้ครับ  และอนาคตมีแผนที่จะวิ่งไปตามแนวถนนลำลูกกา ไปที่สถานีวงแหวนรอบนอกตะวันออก โดยปัจจุบันส่วนต่อขยายส่วนนี้ได้ถูกพักการดำเนินการไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้ความชัดเจนเรื่องหลักประกันผู้โดยสาร

ส่วนช่วง แบริ่ง – สมุทรปราการ เปิดใช้ไปแล้วเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และมีโครงการส่วนต่อขยายอีก 4 สถานี ไปที่สถานีบางปู โดยปัจจุบันส่วนต่อขยายส่วนนี้ได้ถูกพักการดำเนินการไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้ความชัดเจนเรื่องหลักประกันผู้โดยสารเช่นเดียวกับทางด้านทิศเหนือค่ะ

แต่ใครที่เคยได้ข่าว ส่วนต่อขยายสุขุมวิท – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ ส่วนต่อขยายอ่อนนุช – บางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ เพราะว่าตอนนี้โครงการถูกยกเลิกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ

แผนที่ BTS
เว็ปไซค์ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีหมอชิต – คูคต

ระยะทาง : 18.4 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 16 สถานี
งบประมาณ : 11,989.33 ล้านบาท
ความคืบหน้า : เปิดใช้บริการภายในปี 2563

  • สถานีห้าแยกลาดพร้าว
  • สถานีพหลโยธิน 24
  • สถานีรัชโยธิน
  • สถานีเสนานิคม
  • สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สถานีกรมป่าไม้
  • สถานีบางบัว
  • สถานีกรมทหารราบที่ 11
  • สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
  • สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่
  • สถานีสายหยุด
  • สถานีสะพานใหม่
  • สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
  • สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
  • สถานี กม.25
  • สถานีคูคต

ช่วงสถานีคูคต – วงแหวนรอบนอกตะวันออก

ระยะทาง : N/A
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 4 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : ถูกพักการดำเนินการไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้ความชัดเจนเรื่องหลักประกันผู้โดยสาร

  • สถานีคลองสาม
  • สถานีคลองสี่
  • สถานีคลองห้า
  • สถานีวงแหวนรอบนอกตะวันออก

 

ช่วงสถานีแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ

ระยะทาง : 13 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 9 สถานี
งบประมาณ : 24,549 ล้านบาท
ความคืบหน้า : เปิดใช้บริการ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

  • สถานีสำโรง
  • สถานีปู่เจ้าสมิงพราย
  • สถานีเอราวัณ
  • สถานีโรงเรียนนายเรือ
  • สถานีสมุทรปราการ
  • สถานีศรีนครินทร์
  • สถานีแพรกษา
  • สถานีสายลวด
  • สถานีเคหะสมุทรปราการ

 

ช่วงสถานีเคหะสมุทรปราการ – บางปู

ระยะทาง : N/A
โครงสร้าง : ลอยฟ้า
สถานี : 4 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : ถูกพักการดำเนินการไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้ความชัดเจนเรื่องหลักประกันผู้โดยสาร

  • สถานีสวางคนิวาส
  • สถานีสถานีเมืองโบราณ
  • สถานีศรีจันทร์ประดิษฐ์
  • สถานีบางปู

รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน บางหว้า – ตลิ่งชัน 

รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส

รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน หรือสายสีลม ครอบคลุมพื้นที่ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรีของ กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมี 13 สถานี จากสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า และกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 1 สถานี คือสถานีศึกษาวิทยา  นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะสร้างต่อขยายอีก 2 ช่วง คือ ช่วงสถานีบางหว้า – ตลิ่งชัน และ สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส 

ส่วนต่อขยาย สายสีเขียว

เว็ปไซต์โครงการ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีบางหว้า – ตลิ่งชัน

ระยะทาง : 7.5
โครงสร้าง : N/A
สถานี : 6 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : อยู่ในระหว่างการยื่นขออนุมัติการดำเนินโครงการ และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)
คาดว่าแล้วเสร็จ : N/A

  • สถานีบางแวก
  • สถานีกระโจมทอง
  • สถานีบางพรม
  • สถานีอินทราวาส
  • สถานีบรมราชชนนี
  • สถานีตลิ่งชัน

ช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส

ระยะทาง : N/A
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 1 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : N/A
คาดว่าแล้วเสร็จ : N/A

  • สถานียศเส

รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบันวิ่งจาก สถานีสุวรรณภูมิ-สถานีพญาไท โดยมีแผนรวมรถไฟฟ้าสายนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่โครงการส่วนต่อขยายจากปลายทางด้านทิศตะวันตก (สถานีพญาไท) ไปยังศูนย์คมนาคมบางซื่อและท่าอากาศยานดอนเมือง และจากทางด้านทิศตะวันออก (สถานีลาดกระบัง) ไปยังเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี และเดินทางไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยสามารถความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมวงเงินลงทุนประมาณ 224,544 ล้านบาท

ส่วนระยะที่สอง กำลังศึกษาเส้นทางจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา ผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เข้าสู่สถานีรถไฟระยอง สถานีรถไฟแกลง สถานีรถไฟจันทบุรี และสิ้นสุดทั้งเส้นทางที่สถานีรถไฟตราด

รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

เว็ปไซต์ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีพญาไท – บางซื่อ – ดอนเมือง

ระยะทาง : 21.8 กิโลเมตร
โครงสร้าง : –
สถานี : 2 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : เตรียมการก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2567-2570

  • สถานีกลางบางซื่อ
  • สถานีดอนเมือง

ช่วงสถานี อู่ตะเภา – ตราด

ระยะทาง : N/A
โครงสร้าง : N/A
สถานี : 4 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเส้นทาง
คาดว่าแล้วเสร็จ : N/A

  • สถานีระยอง
  • สถานีแกลง
  • สถานีจันทบุรี
  • สถานีตราด

ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา

ระยะทาง : 170 กิโลเมตร
โครงสร้าง : –
สถานี : 5 สถานี
งบประมาณ : N/A
ความคืบหน้า : เตรียมการก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2567-2570

  • สถานีฉะเชิงเทรา
  • สถานีชลบุรี
  • สถานีศรีราชา
  • สถานีพัทยา
  • สถานีอู่ตะเภา

รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย – มีนบุรี

รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ร่วมกับสายสีม่วง, สีแดงเข้ม, สีเขียวเข้ม และสีส้ม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) เป็นระบบหลัก ระยะทางทั้งหมดประมาณ 34.50 กิโลเมตร

รถไฟฟ้า สายสีชมพู
เว็บไซต์ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีแคราย–มีนบุรี

ระยะทาง : 34.5 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 30 สถานี
งบประมาณ : 56,725 ล้านบาท
ความคืบหน้า : กำลังก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2564-65

  • สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  • สถานีแคราย
  • สถานีสนามบินน้ำ
  • สถานีสามัคคี
  • สถานีกรมชลประทาน
  • สถานีปากเกร็ดหัวมุมห้าแยก
  • สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ดถ.แจ้งวัฒนะ
  • สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
  • สถานีเมืองทองธานี
  • สถานีศรีรัช
  • สถานีเมืองทอง 1
  • สถานีศูนย์ราชการ
  • สถานีทีโอที
  • สถานีหลักสี่ ใกล้ไอทีสแควร์ (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง)
  • สถานีราชภัฏพระนคร
  • สถานีวงเวียนหลักสี่
  • สถานีรามอินทรา 3
  • สถานีลาดปลาเค้า
  • สถานีมัยลาภ-รามอินทรา ซอย12-14
  • สถานีวัชรพล
  • สถานีรามอินทรา 40
  • สถานีรามอินทรา 83
  • สถานีวงแหวนตะวันออก หน้าแฟชั่นไอส์แลนด์
  • สถานีนพรัตนราชธานี
  • สถานีบางชัน-รามอินทรา ซอย 109-115
  • สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
  • สถานีตลาดมีนบุรี
  • สถานีมีนบุรี (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม)

.

ช่วงทางสายแยก (อิมแพคลิงก์)

ระยะทาง : 2.6 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 2 สถานี
งบประมาณ : 3,379 ล้านบาท
ความคืบหน้า : อนุมัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2566

  • สถานีอิมแพ็คชาเลนเจอร์
  • สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง  ลาดพร้าว – สำโรง

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า รถไฟฟ้าสายศรีนครินทร์ จะเน้นรองรับประชาชนถนนลาดพร้าว, ถนนศรีนครินทร์, พัฒนาการ ฝั่งทิศตะวันตกของกรุงเทพ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมีชุมชนหนาแน่น ดำเนินการก่อสร้างโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร 23 สถานี (ไม่รวมส่วนต่อขยายอีก 2 สถานี)

เส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา จากนั้นไปตามแนวถนนลาดพร้าวจนถึงทางแยกบางกะปิ แล้วเบนเข้าถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีลำสาลี เชื่อมต่อกับสถานีหัวหมากของรถไฟ Airport Rail Link และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน จากนั้นไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ จนถึงทางแยกศรีเทพา แล้วเบนไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดเส้นทางบริเวณแยกเทพารักษ์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีสำโรง ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน

รถไฟฟ้า สายสีเหลือง

เว็ปไซต์ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีลาดพร้าว – สำโรง

ระยะทาง : 30.4
โครงสร้าง : รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ยกระดับที่ความสูง 17 เมตร
สถานี : 23 สถานี (มีส่วนต่อขยายอีก 2 สถานีในอนาคต)
งบประมาณ : 54,768 ล้านบาท
ความคืบหน้า : กำลังก่อสร้าง (68% ณ พ.ย. 63)
คาดว่าแล้วเสร็จ : กรกฎาคม 2564

  • สถานีรัชดาภิเษก (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)
  • สถานีภาวนา
  • สถานีโชคชัย 4
  • สถานีลาดพร้าว 65 หรือ 71
  • สถานีฉลองรัช หรือ ลาดพร้าว 83 
  • สถานีวังทองหลาง / สถานีมหาดไทย / สถานีฉลองรัช ใกล้ฟู้ดแลนด์
  • สถานีลาดพร้าว 101 
  • สถานีบางกะปิ
  • สถานีแยกลำสาลี (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีส้ม)
  • สถานีศรีกรีฑา
  • สถานีพัฒนาการ
  • สถานีคลองกลันตัน
  • สถานีศรีนุช
  • สถานีศรีนครินทร์ 38
  • สถานีสวนหลวง ร.9
  • สถานีศรีอุดม
  • สถานีศรีเอี่ยม
  • สถานีศรีลาซาล
  • สถานีศรีแบริ่ง
  • สถานีศรีด่าน
  • สถานีศรีเทพา
  • สถานีทิพวัล
  • สถานีสำโรง (เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว)

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรม

รถไฟฟ้าสายสีส้มนี้เป็นอีกสายที่สำคัญค่ะ  เพราะแนวทางวิ่งนั้นผ่ากลางเมืองตั้งแต่ตะวันตกไปตะวันออก  ผ่านสถานที่สำคัญอย่างสนามหลวง, ถนนราชดำเนิน, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประตูน้ำ มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม และเชื่อมการเดินทางไปด้านทิศตะวันออก ผ่านรามคำแหง, บางกะปิ ไปจนถึงมีนบุรี ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ระยะทางรวมทั้งสิ้น 37.5 กิโลเมตร งบทั้งหมด 110,325.76 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงตะวันออก สถานีศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และตะวันตกจากสถานีตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางช่วงตะวันออกเป็นอันดับแรกค่ะ

รถไฟฟ้า สายสีส้ม
เว็ปไซต์ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี

ระยะทาง : 21.1 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ลอยฟ้าและใต้ดิน
สถานี : 17 สถานี
งบประมาณ : รวมทั้ง 2 ช่วง 110,325.76 ล้านบาท
ความคืบหน้า : กำลังก่อสร้าง (72.74% ณ พ.ย. 63)
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2566

  • สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ หน้าเอสพลานาด
  • สถานี รฟม. ติด ถ.พระราม 9
  • สถานีประดิษฐ์มนูธรรม
  • สถานีรามคำแหง 12 หน้าเดอะมอลล์
  • สถานีรามคำแหง หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • สถานีราชมังคลา
  • สถานีหัวหมาก หน้าโรงพยาบาลรามคำแหง
  • สถานีลำสาลี
  • สถานีศรีบูรพา
  • สถานีคลองบ้านม้า
  • สถานีสัมมากร
  • สถานีน้อมเกล้า
  • สถานีราษฎร์พัฒนา
  • สถานีมีนพัฒนา
  • สถานีเคหะรามคำแหง
  • สถานีมีนบุรี
  • สถานีสุวินทวงศ์

ช่วงสถานีตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรม

ระยะทาง : 16.4 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ใต้ดิน
สถานี : 13 สถานี (ไม่รวมสถานีศูนย์วัฒนธรรม)
งบประมาณ : รวมทั้ง 2 ช่วง 110,325.76 ล้านบาท
ความคืบหน้า : อยู่ในระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการ
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2570

  • สถานีประชาสงเคราะห์
  • สถานีดินแดง
  • สถานีรางน้ำ
  • สถานีราชปรารภ
  • สถานีประตูน้ำ
  • สถานีราชเทวี
  • สถานียมราช
  • สถานีหลานหลวง
  • สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  • สถานีสนามหลวง
  • สถานีธนบุรี-ศิริราช
  • สถานีบางขุนนนท์
  • สถานีตลิ่งชัน

รถไฟฟ้าสายสีทอง ธนบุรี – คลองสาน – ประชาธิปก

เป็นโครงการสร้างรถไฟฟ้าของของภาคเอกชน โดยไอคอมสยามและแมกโนเลีย มีระยะทางทั้งสิ้น 2.7 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเชื่อมจากสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้า BTS มาสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน ผ่านเจริญนคร เชื่อมกับเชื่อมกับโครงการไอคอนสยาม  และช่วงที่ 2 จะวิ่งต่อตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านนสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ โรงเรียนจันทรวิทยา และสิ้นสุดแถววัดอนงคารามวรวิหาร  ซึ่งส่วนแรกจะพร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2563 ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย  โดยในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่มีเวนคืนที่ดินในการก่อสร้างเลยค่ะ ^^

รถไฟฟ้า สายสีทอง

ช่วงสถานีกรุงธนบุรี – แยกคลองสาน

ระยะทาง : 1.8 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 3 สถานี
งบประมาณ : 2,512 ล้านบาท
ความคืบหน้า : อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ
คาดว่าแล้วเสร็จ : 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

  • สถานีกรุงธนบุรี
  • สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม)
  • สถานีคลองสาน

ช่วงสถานีแยกคลองสาน – ประชาธิปก

ระยะทาง : 0.9 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ
สถานี : 1 สถานี
งบประมาณ : 1,333 ล้านบาท
ความคืบหน้า : เตรียมก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2566

  • สถานีประชาธิปก

รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ

รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง-ท่าพระ

รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ และ พระโขนง-ท่าพระ) เป็นโครงการเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เส้นทางยกระดับความสูง 14 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน แบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก 3 ช่วงย่อย ได้แก่ สายสีเทาส่วนเหนือ (วัชรพล-ทองหล่อ) และ สายสีเทาส่วนใต้ ที่แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 (พระโขนง – พระราม 3) และ ช่วงที่ 2 (พระราม 3 – ท่าพระ) โดยการดำเนินการจะเริ่มดำเนินการในส่วนเหนือ และส่วนใต้ช่วงลุมพินี-ท่าพระ เป็นลำดับแรก เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบด้านการเวนคืน ยกเว้นช่วงพระโขนง-ลุมพินี ที่จะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินมาพัฒนาโครงการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ก็มีแผนการศึกษาแนวเส้นทางเพิ่มเติมต่อเนื่องจากจุดสิ้นสุดบริเวณแยกต่างระดับรามอินทราของสายสีเทาส่วนเหนือไปตามแนวถนนสุขาภิบาล 5 และสิ้นสุดเส้นทางที่ถนนสายไหมใกล้กับอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร แต่ความคืบหน้าดูยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ค่ะ

รถไฟฟ้าสายสีเทา

(ขอบคุณรูปภาพจาก Ananda)

ช่วงสถานีวัชรพล-ทองหล่อ

ระยะทาง : 16.25 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับแบบรางเดี่ยว
สถานี : 15 สถานี
งบประมาณ : 32,000 ล้านบาท (รวมทั้ง 2 ส่วน)
ความคืบหน้า : คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการในระยะแรกได้ใน พ.ศ. 2563 – 2564 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564 – 2565
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2568

  • สถานีวัชรพล
  • สถานีอยู่เย็น
  • สถานีเกษตรนวมินทร์
  • สถานีประดิษฐ์มนูธรรม 25
  • สถานีโยธินพัฒนา
  • สถานีสหกรณ์ 1
  • สถานีสังคมสงเคราะห์
  • สถานีลาดพร้าว 83
  • สถานีศรีวรา
  • สถานีนวศรี
  • สถานีวัดพระราม 9
  • สถานีศูนย์วิจัย
  • สถานีแจ่มจันทร์
  • สถานีเจริญสุข
  • สถานีทองหล่อ

ช่วงสถานีพระโขนง – พระราม 3 – ท่าพระ

ระยะทาง : 23.66 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับแบบรางเดี่ยว
สถานี : 24 สถานี
งบประมาณ : 32,000 ล้านบาท (รวมทั้ง 2 ส่วน)
ความคืบหน้า : อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ
คาดว่าแล้วเสร็จ : ยังไม่กำหนด

  • สถานีพระโขนง
  • สถานีบ้านกล้วยใต้
  • สถานีกล้วยน้ำไท
  • สถานีแยกเกษมราษฎร์
  • สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
  • สถานีคลองเตย
  • สถานีงามดูพลี
  • สถานีลุมพินี
  • สถานีสวนพลู
  • สถานีช่องนนทรี
  • สถานีทุ่งมหาเมฆ
  • สถานีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • สถานีรัชดา-นราธิวาส
  • สถานียานนาวา
  • สถานีพระราม 3
  • สถานีคลองภูมิ
  • สถานีคลองด่าน
  • สถานีสาธุประดิษฐ์
  • สถานีสะพานพระราม 9
  • สถานีเจริญราษฎร์
  • สถานีเจริญกรุง
  • สถานีมไหสวรรย์
  • สถานีตลาดพลู
  • สถานีท่าพระ

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – ลำสาลี

เป็นไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล มีระยะทางทั้งสิ้น 21 กิโลเมตร โดยรถไฟฟ้าสายนี้จะเชื่อมต่อเมืองด้านฝั่งแคราย กับฝั่งเกษตร-นวมินทร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงเข้าด้วยกัน และยังเป็นโครงข่ายสายรองเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าหลักอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม และโครงข่ายรองอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเทา ของกรุงเทพมหานคร

สายสีน้ำตาล

เว็ปไซต์ : คลิกที่นี่

ช่วงสถานีแคราย – ลำสาลี

ระยะทาง : 22.1 กิโลเมตร
โครงสร้าง : ยกระดับ 12 ม. แบบรางเดี่ยว (Monorail)
สถานี : 20 สถานี
งบประมาณ : 48,386 ล้านบาท
ความคืบหน้า : คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการในระยะแรกได้ใน พ.ศ. 2563 – 2564 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564 – 2565
คาดว่าแล้วเสร็จ : 2568

  • สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  • สถานีงามวงศ์วาน 2 (ซอยอัคนี)
  • สถานีงามวงศ์วาน 18 (จุฬาเกษม)
  • สถานีชินเขต
  • สถานีบางเขน
  • สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประตูงามวงศ์วาน
  • สถานีแยกเกษตร
  • สถานีคลองบางบัว
  • สถานีประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า
  • สถานีประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม
  • สถานีโรงเรียนสตรีวิทยา 2
  • สถานีต่างระดับฉลองรัช
  • สถานีคลองลำเจียก
  • สถานีนวลจันทร์
  • สถานีประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์
  • สถานีโพธิ์แก้ว
  • สถานีอินทรารักษ์
  • สถานีสวนนวมินทร์ภิรมย์
  • สถานีการเคหะแห่งชาติ
  • สถานีลำสาลี

ครบถ้วนกันเลยนะคะ กับรถไฟฟ้าเกือบทุกสายที่จะการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ทั้ง 13 สาย ส่วนอนาคตข้างหน้าหากมีการเปลี่ยนแปลง หรือสายใดมีความคืบหน้าอย่างไร อยู่สบายจะนำมาอัปเดตให้อ่านกันอีกนะคะ อยากจะให้ทุกสายสร้างเสร็จเร็วๆ จังเลย จะได้เดินทางกันได้สะดวก ความเจริญก็จะกระจายออกไป ไม่กระจุกอยู่แต่ในเมืองค่ะ ^^

“ถูกใจบทความ กด Like เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยนะคะ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ALL COMMENT (3)
  1. สีน้ำเงินเข้ม จุดลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ถูกต้องนะครับ

icon-yusabuy-titleRELATED ARTICLE
back to top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใด ๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก