ไอเดียอยู่สบาย : หลอดไฟและการเลือกซื้อมาใช้งานได้อย่างเหมาะสม

· 24 min read

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าไฟฟ้า และแสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง ตามบ้านพักอาศัยทั่วไป คอนโดมิเนียม หรือสถานที่ต่างๆ จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากหลอดไฟประเภทต่างๆด้วยกันทั้งนั้น นอกจากจะให้ประโยชน์ในเรื่องแสงสว่างแล้ว ยังให้ประโยชน์ในแง่ของความงาม ช่วยในการตกแต่ง และสร้างบรรยากาศอีกด้วย แต่ไม่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากแสงสว่าง เพื่อการใช้งาน หรือเพื่อการตกแต่งสร้างบรรยากาศ แหล่งกำเนิดแสงที่สำคัญ ก็ล้วนมาจากหลอดไฟประเภทต่างๆทั้งสิ้น

(photo : via)
(photo : via)

วันนี้ไอเดียอยู่สบาย
อยากชวนเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับหลอดไฟสำหรับใช้งานประเภทต่างๆ
ว่ามีชนิดของหลอดไฟอะไรบ้าง

เนื่องจากไม่นานมานี้ทีมงานอยู่สบาย มีโอกาสแวะมาเลือกดูหลอดไฟสำหรับใช้งาน แล้วก็พบว่าหลอดไฟมีหลากชนิดหลายประเภทเสียจริง เลยเกิดไอเดียว่างั้นเก็บข้อมูลมาฝากเพื่อนๆชาวอยู่สบายดีกว่า  ก่อนที่จะไปเลือกซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยน จะได้เลือกใช้หลอดไฟประเภทต่างๆได้อย่างเหมาะสมเข้ากันกับห้อง หรือบ้านของเพื่อนๆกันนะคะ

วันนั้นเราแวะไปดูกันที่บุญถาวร สาขาเกษตร-นวมินทร์  มองซ้ายมองขวาเห็นน้องเซลล์ที่ขายหลอดไฟของ Philips อยู่  เลยจัดการเข้าไปเจรจาขอยืมหลอดไฟมาถ่ายรูปได้สำเร็จ  ก็ต้องขอขอบคุณน้องนิรนามหน้าติดหนวดคนนั้นมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

ก่อนอื่นมาเริ่มกันที่พื้นฐานที่ควรจะรู้เบื้องต้นก่อนนะคะ … มารู้จักกับค่าคุณสมบัติของหลอดไฟกันค่ะ

ตรงนี้อาจจะมีศัพท์เทคนิคเยอะหน่อย  ค่าเหล่านี้ก็มักจะอยู่บนข้างกล่องนั่นเองค่ะ  เชื่อว่าเพื่อนๆส่วนใหญ่เวลาไปซื้อหลอดไฟก็คงรู้กันเฉพาะว่าจะใช้กี่วัตต์  แต่จริงๆแล้วข้างกล่องมันมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวหลอดไฟแต่ละอันอีกพอสมควรเลยค่ะ…. แต่ถ้าใครอ่านแล้วมึนก็กระโดดข้ามไปเรื่องการเลือกซื้อด้านล่างเลยก็ได้นะคะ  รู้ไว้ใช่ว่าเนอะ ^^

 

  1. ค่าฟลักซ์การส่องสว่าง (Luminous Flux) เป็นปริมาณแสงสว่างทั้งหมดที่ได้จากแหล่งกำเนิดแสง มีหน่วยวัดเป็นลูเมน (lm)
  2. ค่าความสว่าง (llluminance) เป็นปริมาณแสงสว่างที่ตกกระทบบนวัตถุ (lumen) ต่อ 1 หน่วยพื้นที่ มีหน่วยเป็น lm/sq.m. หรือ lux นั่นเอง โดยทั่วไป อาจเรียกว่า ระดับความสว่าง (Lighting level) จึงเป็นตัวที่บอกว่าแสงที่ได้เพียงพอหรือไม่
  3. ค่าความเข้มการส่องสว่าง (Luminous Intensity) เป็นความเข้มของแสงที่ส่องออกมาจากวัตถุ โดยทั่วไปจะวัดเป็นจำนวนเท่าของความเข้มที่ได้จากเทียนไข 1 เล่ม จึงมีหน่วยเป็นแคนเดลา (Candela, cd)
  4. ค่าความส่องสว่าง (Luminance) เป็นตัวที่บอกปริมาณแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุ (candela) ต่อ 1 หน่วยพื้นที่ มีหน่วยเป็น cd/sq.m. บางครั้งจึงอาจเรียกว่าความจ้า (Brightness)
  5. ค่าประสิทธิผล (Efficacy) เป็นปริมาณแสงสว่างที่ออกมาต่อกำลังไฟฟ้าที่ใช้ (watt) มีหน่วยวัดเป็น lm/w หลอดที่มีค่าประสิทธิผลสูงแสดงว่าหลอดนี้ให้ปริมาณแสงออกมามากแต่ใช้กำลังไฟฟ้าน้อย
  6. ค่าความถูกต้องของสี (Colour Rendering, Ra หรือ CRI) เป็นค่าที่ใช้บอกว่าหลอดไฟประเภทต่างๆ เมื่อแสงส่องสีไปบนวัตถุจะทำให้สีของวัตถุนั้นผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ไม่มีหน่วยแต่มักเรียกเป็น % ตามค่าความถูกต้องค่ะ แสงอาทิตย์มีค่า Ra = 100 เพราะแสงอาทิตย์ให้สเปกตรัมครบทุกสี เมื่อส่องไปบนวัตถุจะไม่เห็นความผิดเพี้ยนของสี
  7. ค่าอุณหภูมิสีของแสง (Color Temperatrre TK) สีของแสงที่ได้จากหลอดไฟเทียบกับสีที่เกิดจากการเผาวัตถุดำอุดมคติให้ร้อนที่อุณหภูมินั้น มีหน่วยเป็นเคลวิน (k) อุณหภูมิสีเป็นตัวที่บอกว่าแสงที่ได้มีความขาวมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีค่าอุณหภูมิสีของแสงต่ำแสงที่ได้จะออกมาในโทนเหลืองหรือแดง ถ้ามีค่าอุณหภูมิสีของแสงสูงแสงที่ได้จะออกมาในโทนขาวกว่า ในท้องตลาดทั่วไปมีให้เลือก 3 โทนสี

มาดูโทนสีของอุณหภูมิสีของแสงกันดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้ควรจะรู้เพื่อการเลือกซื้อที่ถูกต้องนะคะ  เพราะถ้าเวลาไปซื้อแล้วดูแต่จำนวนวัตต์อย่างเดียว ไม่ได้ดูอุณหภูมิสีของแสงด้วย อยากได้แสงขาวก็อาจจะได้แสงเหลืองมา หรืออยากให้ห้องเหลืองๆดูอบอุ่นก็อาจจะได้แสงขาวเว่อร์มาไม่ถูกใจได้ค่ะ

 

  • สีวอร์มไวท์ (Warm white) ให้แสงสีแดงออกโทนส้ม เป็นโทนสีร้อน โทนอบอุ่น ค่าอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ ต่ำกว่า 3,000 เคลวิน
  • สีคูลไวท์ (Cool white) ให้แสงสีจะเริ่มออกมาทางสีขาว เป็นโทนสีที่ดูเย็นสบายตา ดูค่อนข้างสว่างกว่าเมื่อเทียบกับสีวอร์มไวท์ Warm white ค่าอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ 3,000-4,500 เคลวิน
  • สีเดย์ไลท์ (Day light) ให้แสงสีโทนออกขาวอมฟ้า แต่คล้ายแสงธรรมชาติตอนเวลากลางวัน ดังนั้นค่าความถูกต้องของสีจึงมีมากกว่าเมื่อเทียบกับสีวอร์มไวท์ Warm white หรือสีคูลไวท์ Cool white ค่าอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ 4,500-6,500 เคลวิน ขึ้นไป

ค่าคุณสมบัติของหลอดไฟต่างๆเหล่านี้ ส่วนมากมักจะมีบอกอยู่ที่ข้างกล่อง หรือฉลากกำกับผลิตภัณฑ์นะคะ ขอแค่เพื่อนๆมีความเข้าใจเป็นความรู้พื้นฐาน เพื่อนำมาเลือกซื้อหลอดไฟประเภทต่างๆมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกันค่ะ

ซูมเข้าไปดูใกล้ๆ  ตรงที่วงไว้นั่นแหละค่ะคืออุณหภูมิสีของหลอดไฟแต่ละหลอด

แล้วพอถึงตอนจะเลือกซื้อหลอดไฟซักหลอดจะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้างนะ

  • อันดับแรก เพื่อนๆต้องสำรวจหลอดไฟเดิมกันก่อนนะคะ ว่าใช้หลอดรูปทรงแบบไหน เพื่อกำหนดการใช้งาน ทิศทางการให้แสง และองศาของแสง
  • ขั้วหลอดที่ใช้กับโคมเดิม เป็นแบบไหน เป็นขั้วเกลียว ขั้วเกลียวเล็ก ขั้วเข็ม หรือขั้วเสียบ
  • ต้องมีอุปกรณ์ใดที่ใช้กับหลอดไฟ หรือโคมไฟ เช่น หม้อแปลง บัลลาสต์ สวิสต์หรีไฟ
  • สิ่งสำคัญต่อมา คือ พิจารณาคุณสมบัติของหลอดไฟ เพราะว่าบางครั้งหลอดไฟที่ใช้อยู่นั้นอาจไม่เป็นที่ถูกใจ หรือเหมาะสมกับการใช้งาน ให้แสงที่จ้าเกินไป ให้แสงที่ขาวเกินไปเป็นต้น จุดนี้แหละที่ทำให้ไอเดียอยู่สบายแนะนำค่าคุณสมบัติของหลอดไฟให้เพื่อนๆได้รู้จักกันก่อนตอนต้น เพื่อนๆจะได้เลือกจากข้างกล่องหรือฉลากกำกับผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมค่ะ
    และเลือกใช้หลอดไฟที่มีความแม่นยำของแสงของสี ควรเลือกซื้อหลอดไฟที่มีค่าความถูกต้องของสี Ra=80 เป็นต้นไปนะคะ (ขึ้นกับการใช้งานด้วยค่ะ)
  • อายุการใช้งานของหลอดไฟ เลือกหลอดไฟประเภทที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหน่อย จะได้ไม่ต้องดูแลรักษามากค่ะ
  • ราคา ค่าซื้อหลอด ค่าเปลี่ยนและดูแลหลอด ราคามักจะสัมพันธ์กับอายุการใช้งาน อายุการใช้งานยาวนานมักมีราคาค่าหลอดไฟที่แพงกว่า ส่วนที่อายุการใช้งานสั้นก็ต้องเปลี่ยนบ่อย ราคาหลอดถูกกว่าก็จริง แต่อาจจะต้องไปเสียค่ารถ ค่าเสียเวลาในการไปซื้อ หรือซื้อมาตุนนี่ยิ่งแล้วใหญ่ ลองเลือกดูนะคะ แต่แนะนำว่าอย่าเสียน้อยเสียยาก เสียมาเสียง่ายเลยค่ะ
  • เลือกยี่ห้อที่เป็นที่รู้จัก และได้การรับรองมาตราฐานสินค้า ดูได้จากสัญลักษณ์ที่กำกับข้างกล่องผลิตภัณฑ์นะคะ
(ตัวอย่างสัญลักษณ์รับรองมาตราฐานสินค้าค่ะ)
(ตัวอย่างสัญลักษณ์รับรองมาตราฐานสินค้าค่ะ)

แล้วเราก็มารู้จักกับประเภทของหลอดไฟกันดีกว่า ว่ามีชนิดของหลอดไฟอะไรกันบ้าง ตามมาเลยค่ะ

.

.

.

.

เพื่อความเข้าใจ ก่อนอื่นขอแบ่งหลอดไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. หลอดมีไส้ (Incandescent Lamp)
2. หลอดปล่อยประจุ (Gas Discharge Lamp)
3. หลอดไฟ LED (Light Emitting Diode)

สำหรับสองกลุ่มแรกใช้กันมานานจนในปัจจุบันหลายประเทศไม่ค่อยนิยม และต่อไปน่าจะถูกลดจำนวนการใช้งานลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มแรกหลอดมีไส้ คาดว่าน่าจะหมดไปในเร็ววันนี้ โดยที่มีการใช้งานหลอดไฟ LED เข้ามาทดแทนค่ะ

แต่ก็อยากจะให้ข้อมูลกับเพื่อนๆชาวอยู่สบายได้รู้จักกัน อย่างที่มีคนเคยพูดว่า “เรียนรู้อดีตเพื่อนำมาพัฒนาอนาคต” ครั้งหน้าเวลาที่ต้องเลือกซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยน อยากแนะนำให้ใช้เป็นหลอด LED มาทดแทนหลอดมีไส้ และหลอดปล่อยประจุนะคะ

หลอดมีไส้ (Incandescent Lamp) แบ่งเป็น 2 ชนิดค่ะ

1. หลอดไส้ หรือหลอดความร้อน (Incandescent Lamp)

(photo : via)
(photo : via)

หลอดไส้ หรือหลอดความร้อนนี้ เป็นหลอดแบบดั้งเดิม ในบ้านเราใช้กันมาหลายสิบปี เป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป ราคาถูก ติดตั้งง่าย ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ควบคุมภายนอก มีค่าบำรุงรักษาต่ำ ให้แสงสว่างทันทีเมื่อกดสวิสต์เปิด ใช้กับอุปกรณ์หรี่แสงได้ด้วย และทำงานได้ดีเท่ากันทั้งไฟฟ้ากระแสสลับ หรือกระแสตรง มีกำลังไฟหลายขนาด 3, 25, 40,100 วัตต์ ด้วยเหตุนี้เองหลอดไฟประเภทนี้จึงใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในครัวเรือน และใช้ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบพกพา อย่างเช่น ไฟฉาย ได้อีกด้วยนะคะ

หลักการทำงานของหลอดไฟประเภทนี้ คือ พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านขดลวดจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน จนร้อนจัดแล้วเปล่งแสง มีค่าประสิทธิผล (Efficacy) ต่ำราว 5-12 ลูเมนต่อวัตต์ ขึ้นกับวัตต์ของหลอด มีอุณหภูมิสีของแสงประมาณ 2,500-2,700 องศาเคลวิน ให้แสงที่ออกมาจะไปทางแดงเล็กน้อย แต่ให้ดัชนีความถูกต้องของสีมากถึง 97-100% แต่หลอดไฟประเภทนี้ใช้พลังงานมาก หรือกินไฟมากนั่นเอง แถมยังคายความร้อน เปิดใช้ไม่นานหลอดจะร้อน อายุการใช้งานสั้น และเสื่อมสภาพเร็ว แบบนี้เองปัจจุบันถึงไม่เริ่มไม่เป็นที่นิยมกันแล้วค่ะ

รูปทรงของหลอดไส้ หรือหลอดความร้อน ที่พบเห็นมีหลายแบบหลายรูปทรงนะคะ

  • รูปทรงมาตราฐาน สำหรับใช้งานทั่วไป มีทั้งแบบแก้วใส, แก้วฝ้า และแบบเคลือบฉาบปรอท
(หลอดแบบนี้มักใช้กับโคมที่โชว์หลอดค่ะ : via)
(หลอดแบบนี้มักใช้กับโคมที่โชว์หลอดค่ะ : via)
  • รูปทรงจำปา หรือทรงเปลวเทียน ชื่อเรียกมาจากรูปร่างที่มองเห็น มักใช้กับโคมไฟประดับต่างๆ และนิยมใช้กับโคมช่อระย้า ประดับแก้วหรือคริสตัล เพราะว่ารูปทรงสวย ที่สำคัญมีขนาดเล็ก มีทั้งแบบแก้วใส และแก้วฝ้า
  • รูปทรงกลม หรือหัวปิงปอง หลอดทรงกลม ให้แสงสว่างรอบด้าน สำหรับโคมไฟขนาดเล็กหรือใช้เป็นไฟประดับขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะใช้ใส่กับโคมไฟให้แสงสว่างหรือโคมประดับผนัง มีขนาดเท่าลูกปิงปอง ทั้งแบบแก้วใส , แก้วฝ้า , เคลือบฉาบปรอท และแก้วสีต่างๆ
  • รูปทรงดอกเห็ด ให้แสงกระจาย มักใช้ส่องสินค้า หรืองานตกแต่งสถานที่ นิยมใช้หลอดแบบแก้วฝ้า
  • รูปทรงสปอร์ทไลท์ หรือหลอดไส้สะท้อนแสงกระจกบาง หรือที่เราเรียกกันว่าหลอดอาร์ (R, Reflector Lamp) ใช้ส่องเน้นเฉพาะจุด และบริเวณที่ต้องการแสงเป็นพิเศษ มีทั้งแบบแก้วฝ้า และแบบเคลือบฉาบปรอท
  • รูปทรงสปอร์ทไลท์ หรือหลอดไส้สะท้อนแสงกระจกหนา หรือที่เราเรียกกันว่าหลอดพาร์ (PAR, Parabolic Aluminized Reflector) มีหลายขนาดให้เลือกใช้โดยดูจากตัวเลขด้านหลัง จะบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้ากระจก มีหน่วยเป็นหุน เช่น PAR36, PAR38 หน้าหลอดปิดด้วยกระจกหนา ถ้าเป็นกระจกผิวเรียบจะให้ลำแสงแคบ ลำแสงพุ่งส่องเฉพาะจุด ถ้าเป็นกระจกผิวขรุขระ จะให้ลำแสงแบบกระจาย เป็นหลอดที่สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่ส่วนใหญ่จะใช้กับงานภายนอกอาคาร และใช้สำหรับเป็นไฟส่องเวที ส่องป้าย

ที่กล่าวมาด้านบนนั้นเป็นรูปทรงที่พบเห็น และใช้งานกันบ่อยก็โดยทั่วไป นอกจากนี้หลอดไส้ หรือหลอดความร้อน ยังมีรูปทรงแบบอื่นอีกให้เลือกใช้มากมายอีกด้วยค่ะ รูปทรง หรือรูปแบบอื่นๆ ส่วนมากก็ไว้ใช้ตกแต่ง ใช้กับโคมที่โชว์หลอดค่ะ

มาดูขั้วหลอดกันนะคะ ลักษณะของขั้วหลอดไส้ หรือหลอดความร้อน (Incandescent Lamp) มีด้วยกัน 2 แบบ คือ

  • ขั้วหลอดแบบเกลียว (Edison Lamp Base) เช่น E10, E11, E12, E14, E17, E27, E40 โดยตัวเลขหมายถึง เส้นผ่าศูนย์กลางของขั้วหลอด มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร โดยขั้วหลอดที่เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ E14 หรือ E27
(ขั้วเกลียวที่นิยมใช้กันทั่วไป)
(ขั้วเกลียวที่นิยมใช้กันทั่วไป)
  • ขั้วหลอดแบบเขี้ยว (Bayonet) ที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ B22 และ Ba9S
(เปรียบเทียบขั้วเกลียว กับขั้วเขี้ยว)
(เปรียบเทียบขั้วเกลียว กับขั้วเขี้ยว)

2. หลอดทังสเตนฮาโลเจน (Tungsten Halogen Lamp)

หลอดทังสเตนฮาโลเจน เป็นหลอดไฟประเภทที่มีการทำงานแบบเดียวกับหลอดไส้ ที่อาศัยการกำเนิดแสงสว่างจากความร้อนที่ได้จากพลังงานไฟฟ้าที่ผ่านไส้หลอดที่ทำจากทังสเตน จนร้อนจัดแล้วเปล่งแสง แต่ต่างกันตรงที่ภายในจะมีการบรรจุสารตระกูลฮาโลเจน ได้แก่ ไอโอดีน คลอรีน โบรมีน และฟลูออรีน ฯลฯ เพื่อป้องกันการระเหิดตัวของไส้หลอด ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานหลอดทังสเตนฮาโลเจนให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดไส้ กินไฟน้อยกว่าหลอดไส้ แต่ก็ยังถือว่ากินไฟมากถ้าเทียบกับหลอดประเภทอื่นๆ ทนความร้อนได้ดีกว่าหลอดไส้อีกด้วยนะคะ อีกทั้งยังให้แสงที่ขาวกว่าหลอดไส้ เหมือนว่าจะมีอะไรหลายๆอย่างที่ดีกว่าหลอดไส้นะคะเนี่ย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปค่ะ หลอดประเภทนี้ยังจัดอยู่ในหลอดไฟกลุ่มที่จะถูกลดจำนวนการใช้งานลงอยู่นะคะ

มีค่าประสิทธิผล (Efficacy)ประมาณ 12-22 ลูเมนต่อวัตต์ ส่วนอุณหภูมิสีก็ประมาณ 2,800 – 3,400 องศาเคลวิน ส่วนการใช้อุปกรณ์หรี่ไฟกับหลอดฮาโลเจน อาจทำให้หลอดอายุสั้นลง ซึ่งไม่แน่นำให้ใช้ แต่ก็ขึ้นกับยี่ห้อด้วยนะคะ เนื่องจากบางยี่ห้อจะมีข้อกำหนดการใช้อุปกรณ์หรี่ไฟ หรือมีอุปกรณ์หรี่ไฟที่ผลิตมาเฉพาะ สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ ความร้อน และUV ค่ะ อย่าเผลอไปแตะหลอดประเภทนี้ด้วยมือเปล่านะคะ

รูปทรงของหลอดทังสเตนฮาโลเจน ที่ใช้กันทั่วไปมีรูปร่างเป็นหลอดหรือกระเปาะ แต่ก็มีรูปทรงอย่างอื่น เช่น รูปทรงยาวตรง หรือรูปทรงอื่น เพื่อให้เหมาะกับลักษณะงานที่ต่างกัน มักจะมาพร้อมกับตัวจานกระจายแสงที่มีรูปร่างคล้ายถ้วยด้วยนะคะ ส่วนด้านในจะมีพื้นผิวสะท้อนแสง มีทั้งแบบหน้าปิดกระจก และหน้าเปิด หลอดประเภทนี้เหมาะกับการใช้เพื่อตกแต่งเน้นให้วัตถุดูโดดเด่น เป็นประกาย สร้างแสงเงา

ขั้วของหลอดทังสเตนฮาโลเจนนี้ จะมีขั้วหลอดแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย โดยทั่วไปจะคล้ายกับขั้วของหลอดไส้

(หลอดทังสเตนฮาโลเจนทรงถ้วย MR16 และทรงถ้วย ขั้ว GU10)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจนทรงถ้วย MR16 และทรงถ้วย ขั้ว GU10)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจนชนิดแคปซูล)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจนชนิดแคปซูล)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจน ขั้ว GU9)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจน ขั้ว GU9)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจน ชนิดแท่ง)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจน ชนิดแท่ง)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจน มาในรูปทรงหลอดไส้)
(หลอดทังสเตนฮาโลเจน มาในรูปทรงหลอดไส้)

ส่วนการเลือกใช้งานหลอดทังสเตนฮาโลเจน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หลอดทังสเตนฮาโลเจนแรงดันต่ำ   กับหลอดทังสเตนฮาโลเจนแรงดันทั่วไป

  • หลอดทังสเตนฮาโลเจนแรงดันต่ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากให้แสงที่ขาวนวลสบายตา เพราะมีการเคลือบสารพิเศษเรียกว่า Dichroic Film ที่จานสะท้อนแสง ทำให้ความร้อนส่วนใหญ่กระจายออกไปทางด้านหลังของหลอด ลำแสงที่ได้รับจึงเย็นลงกว่าเดิม ให้แสงที่ส่องเน้นวัตถุได้เป็นอย่างดี สามารถไปส่องสินค้าประเภทเครื่องสำอางค์ อาหาร ผักสด ผลไม้สด โดยที่ไม่ทำให้สินค้าได้รับความเสียหายมากนัก

หลอดทังสเตนฮาโลเจนแรงดันต่ำนี้ จะใช้กับไฟขนาดแรงดัน 12V แต่เนื่องจากกระแสไฟในที่ได้รับมาจะเป็นไฟขนาดแรงดัน 220V เพราะฉะนั้นจะต้องมีหม้อแปลงเข้ามาแปลงแรงดันไฟจาก 220V ให้เหลือ 12V ก่อน ไม่สามารถต่อตรงโดยไม่มีหม้อแปลงไฟฟ้าได้ ดังนั้นก่อนติดตั้งหลอดไฟประเภทนี้ อย่าลืมเผื่อพื้นที่สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าด้วยนะคะ ตัวอย่างหลอดประเภทนี้ เช่น หลอด G4, GY6.35, MR16, MR11

  • ส่วนหลอดทังสเตนฮาโลเจนแรงดันทั่วไป ที่ระบุว่าใช้กับไฟ 230V สามารถต่อตรงได้เลย ไม่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้า หลอดประเภทนี้ก็เช่น หลอด G9, GU10

มาต่อกันกับกลุ่มที่สองกันนะคะ…

หลอดปล่อยประจุ (Gas Discharge Lamp) แบ่งเป็น หลอดปล่อยประจุความดันไอต่ำ และหลอดปล่อยประจุความดันไอสูง

1. หลอดความดันไอต่ำ ได้แก่

1.1. หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lamp)

เป็นหลอดที่มีประสิทธิภาพแสง และอายุการใช้งานมากกว่าหลอดไส้ มีกระบวนการให้แสงสว่างคือ ส่งผ่านประจุอิเล็คตรอนซึ่งเกิดจากขั้วลบผ่านสารเรืองแสงที่ใช้เคลือบหลอดไฟไปยังขั้วบวก ยังเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก

นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเนื่องจากให้แสงสว่างสูง โทนสีของหลอดมีครบทั้ง 3 แบบ คือ Warm white, Cool white และ Day light ชนิดของหลอดชนิดนี้ที่ใช้งานกันทั่วไปจะเป็นแบบหลอดยาว (Linear) มีกำลังไฟขนาด 18 และ 36 วัตต์ และแบบวงแหวน (Circular) มีกำลังไฟขนาด 22, 32 และ 40 วัตต์ และมีค่าประสิทธิผลประมาณ 50-80 ลูเมนต่อวัตต์ ถือว่าสูงพอสมควร และประหยัดค่าไฟฟ้าเมื่อเทียบกับหลอดไส้ มีอายุการใช้งานที่ยาว

(หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบหลอดยาว)
(หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบหลอดยาว)
(หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบวงแหวน)
(หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบวงแหวน)

ส่วนประเภทของหลอดฟลูออเรสเซนต์นี้ แบ่งได้เป็น

  • Preheat หรือหลอดอุ่นไส้ เป็นแบบที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางทั่วไปสังเกตง่ายๆ คือ ประกอบด้วยตัวหลอด, บัลลาสต์ และสตาร์ทเตอร์
  • Rapid start ไม่ต้องอาศัยสตาร์ทเตอร์ เนื่องจากใช้บัลลาสต์แบบพิเศษที่จ่ายไฟเลี้ยงไส้หลอดให้อุ่นตลอดเวลา ทำให้จุดติดง่ายกว่า และหลอดก็ต่างจาก แบบ preheat ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ เหมาะกับใช้ในหลืบฝ้า ที่มีความสูงของฝ้าเพดานมากกว่าปกติ สูงเกินกว่า 5-7 เมตรขึ้นไป สถานที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ และยังสามารถใช้ร่วมกับ เครื่องหรี่ไฟได้ด้วย
  • Instant start จะใช้การจ่ายแรงดันสูงประมาณ 400-1000 V เข้าที่ตัวหลอดโดยผ่านบัลลาสต์ เพื่อกระตุ้นให้อิเล็กตรอนหลุดออกจาก cathode หลอดชนิดนี้ไม่ต้องอาศัยสตาร์ทเตอร์ เช่นกัน (หลอด Instant start เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหลอด Slimline)
(หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบวงแหวน มายกเซ็ตอุปกรณ์)
(หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบวงแหวน มายกเซ็ตอุปกรณ์)

นอกจากนี้ยังมีหลอดที่ให้แสงสว่างสูงพิเศษจำพวก high output และ very high output อีกด้วย ขั้วหลอดโดยทั่วไป เป็นแบบ single pin แต่อาจมีแบบ bipin ในบางรุ่นเพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับ ขั้วหลอดทั่วไปได้ด้วยค่ะ

โดยส่วนใหญ่เป็นหลอดประเภท T12 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหลอดอ้วน หากเป็นไปได้ควรที่เลือกหลอดผอมแบบ T8 หรือ T5 ที่มีขนาดของหลอดเล็กกว่า แต่ให้ความสว่างเท่ากัน จะช่วยประหยัดพลังงานและประหยัดค่าไฟได้มากขึ้นด้วย โดยที่ T ย่อมาจาก Tubular และตัวเลขตามหลังจะบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอด ที่มีหน่วยเป็นหุน เช่น T12 หมายถึง หลอดที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 หุน หรือ 12/8 นิ้ว เราเลยเรียกกันว่าหลอดอ้วนยังไงหละคะ

1.2. หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent Lamp, CFL)

หรือที่เราเรียกกันว่าหลอดตะเกียบ ถูกพัฒนามาทดแทนหลอดไส้ดั้งเดิม มีขนาดกระทัดรัด อายุการใช้งานยาวนานขึ้นประหยัดไฟยิ่งขึ้น ประหยัดไฟร้อยละ 75-80 ของหลอดไส้ ให้กำลังส่องสว่างยิ่งขึ้น แต่ยังคงมี UV และสารปรอท ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้นะคะ

โทนสีของหลอดมีครบทั้ง 3 แบบ คือ Warm white, Cool white และ Day light เช่นเดียวกันกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ และมีค่าประสิทธิผล (Efficacy) สูงกว่าหลอดไส้ คือ ประมาณ 50-80 ลูเมนต่อวัตต์ แบบที่ใช้งานกันมาก คือ หลอดเดี่ยว มีกำลังไฟขนาด 5, 7, 9 และ 11 วัตต์ และหลอดคู่ มีกำลังไฟขนาด 10, 13, 18, และ26 วัตต์

(รุ่นพิเศษ ระบุว่าสามารถใช้กับสวิสต์หรีไฟได้)
(รุ่นพิเศษ ระบุว่าสามารถใช้กับสวิสต์หรีไฟได้)

มาดูกันที่ขั้วหลอดนะคะ ขั้วหลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์มีทั้งแบบขั้วเกลียว จะมีบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ในตัวเปิดติดทันที ไม่กะพริบ และแบบขั้วเสียบบัลลาสต์ภายนอกแยกแต่ที่ตัวหลอดจะมีสตาร์ทเตอร์

(หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ ขั้วเกลียว)
(หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ ขั้วเกลียว)
(หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ ขั้วเสียบ)
(หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ ขั้วเสียบ)

แต่ถ้าแบ่งตามลักษณะ และการใช้งานของหลอดจะมี 5 ชนิดด้วยกันค่ะ

  • หลอด SL แบบขั้วเกลียว มีบัลลาสต์ มีกำลังไฟขนาด 9, 13, 18 และ 25 วัตต์ เหมาะกับสถานที่ที่ต้องเปิดไฟทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ หรือบริเวณที่เปลี่ยนหลอดยาก เช่น โคมไฟหัวเสาบริเวณทางเดินบันได เป็นต้น
  • หลอดตะเกียบ 4 แท่ง ขั้วเกลียว (หลอด PL*E/C) มีกำลังไฟขนาด 9, 11,15 และ 20 วัตต์ มีบัลลาสต์ในตัวเปิดติดทันที และยังสามารถใช้ได้ในสถานที่อุณหภูมิต่ำถึง -20 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว
  • หลอดตะเกียบตัวยู 3 ขด (หลอด PL*E/T) ขนาดกะทัดรัด มีกำลังไฟขนาด 20 และ 23 วัตต์ ขจัดปัญหาหลอดยาวเกินโคมให้ความสว่างมาก และสามารถใช้เปลี่ยนแทนหลอดไส้ได้
  • หลอดตะเกียบขั้วเสียบ (หลอด PLS) บัลลาสต์ภายนอก มีกำลังไฟขนาด 7, 9 และ 11 วัตต์
  • หลอดตะเกียบ 4 แท่ง ขั้วเสียบ (หลอด PLC) บัลลาสต์ภายนอก มีกำลังไฟขนาด 8, 10, 13, 18 และ 26 วัตต์
(รู้หรือไม่?? หลอดที่มีกำลังไฟขนาดเท่ากัน แต่ลักษณะแท่งต่างกัน ทำให้ความยาวหลอดต่างกันด้วยนะคะ)
(รู้หรือไม่?? หลอดที่มีกำลังไฟขนาดเท่ากัน แต่ลักษณะแท่งต่างกัน ทำให้ความยาวหลอดต่างกันด้วยนะคะ)

1.3. หลอดโซเดียมความดันไอต่ำ (Low Pressure Sodium Lamp)

หลอดประเภทนี้มีสีเหลืองจัด และค่าประสิทธิผลมากที่สุดในบรรดาหลอดทั้งหมด คือ มีประสิทธิผลประมาณ 120-200 ลูเมนต่อวัตต์ แต่ความถูกต้องของสีน้อยที่สุด คือ มีความถูกต้องของสีเป็น 0% เหมาะกับงานที่ไม่ต้องการความถูกต้องของสีนะคะ อายุการใช้งานยาวนานมาก ข้อดีของแสงสีเหลืองเป็นสีที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ดีที่สุด หลอดประเภทนี้ส่วนมากจะเห็นใช้เป็นไฟถนน หลอดมีกำลังไฟขนาด 18, 35, 55, 90, 135 และ180 วัตต์

2. หลอดความดันไอสูง ได้แก่

2.1 หลอดไอปรอท (Mercury Vapor Lamp)

หลอดปรอทความดันไอสูง หรือที่เรียกกันโดยทั่วๆไปว่าหลอดแสงจันทร์ และมีค่าประสิทธิผลสูงพอกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ ประมาณ 50-80 ลูเมนต่อวัตต์ แสงที่ออกมามีความถูกต้องของสีประมาณ 60% ส่วนใหญ่ใช้แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ เมื่อต้องการวัตต์สูงๆในพื้นที่ที่มีเพดานสูง เหมาะสมกับการใช้เป็นไฟสนามตามสวนสาธารณะ แต่เมื่อใช้ไปนานๆคุณภาพแสงจะลดลง

อุณหภูมิสีประมาณ 3,000-6,000 เคลวิน แล้วแต่ชนิดของหลอด และอายุการใช้งานประมาณ 8,000-24,000 ชั่วโมง มีกำลังไฟขนาด 50, 80, 125, 250, 400, 700, และ 1,000 วัตต์ค่ะ

2.2 หลอดโซเดียมความดันไอสูง (High Pressure Sodium Lamp)

มีค่าประสิทธิผลรองจากหลอดโซเดียมความดันไอต่ำ ประมาณ 70-90 ลูเมนต่อวัตต์ สูงที่สุดในบรรดาตระกูลหลอดปล่อยประจุความดันไอสูง แต่ความถูกต้องของสีดีกว่าหลอดโซเดียมความดันไอต่ำ คือ 20% และมีอุณหภูมิสีประมาณ 2,500 เคลวิน เป็นอุณหภูมิสีต่ำเหมาะกับงานที่ไม่ต้องการความสว่างมาก และไม่พิถีพิถันเรื่องความถูกต้องของสี เช่น ไฟถนน คลังสินค้า ไฟส่องบริเวณที่เปลี่ยนหลอดยาก อายุการใช้งานประมาณ 24,000 ชั่วโมง มีขนาดกำลังไฟ 50, 70, 100, 150, 250, 400 และ 1,000 วัตต์

2.3 หลอดเมทัลฮาไลด์ (Metal Halide Lamp)

หลอดเมทัลฮาไลด์ก็เหมือนกับหลอดปล่อยประจุอื่นๆ แต่มีข้อดีที่ว่ามีสเปกตรัมแสงทุกสี ทำให้สีทุกชนิดเด่นภายใต้หลอดชนิดนี้ นอกจากความถูกต้องของสีสูงแล้วนะคะ แสงที่ออกมาก็มีตั้งแต่ 3,000-6,000 เคลวิน ขึ้นอยู่กับขนาดของกำลังไฟ ส่วนใหญ่นิยมใช้กับที่ที่ต้องการความถูกต้องของสีมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬาที่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ มีอายุการใช้งานประมาณ 6,000-9,000 ชั่วโมง และมีกำลังไฟขนาด 100, 125, 250, 300, 400, 700 และ 1,000 วัตต์

และแล้วก็มาถึงตัวเด่นของเรา หลอดไฟประเภท หลอดไฟ LED ค่ะ…

หลอดไฟ LED (Light Emitting Diode)

LED ย่อมาจาก Light Emitting Diode หรือเรียกว่า หลอดไดโอตเปล่งแสง เพื่อนๆคงจะคุ้นหูกันมามากพอสมควร เนื่องจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้นไปทุกๆวัน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไฟฟ้าหลายๆประเภทได้เริ่มการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟที่มีส่วนประกอบของ LED มากขึ้น ที่คุ้นหูคุ้นตาเรา ก็อย่างเช่น TV LED, ไฟฉาย LED, เครื่องคิดเลข, นาฬิกา หรือรีโมททีวี ที่มีแสงสีแดงๆที่เป็นจุดบอกสัญญาณที่ทีวี ตรงนั้นก็คือ LED นะคะ ส่วนหลอดไฟ หรืออุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างก็เช่นเดียวกันค่ะ เริ่มมีการใช้งานกันมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน จะเห็นหลอดไฟ LED ได้จากโฆษณามากมาย หรือการรณรงค์ในเรื่องการประหยัดไฟค่ะ

หลอดไฟ LED หรือหลอดไดโอตเปล่งแสงนั้น ประกอบด้วยชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ชนิดหนึ่ง มีสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า ที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ซึ่งสามารถเปล่งแสงสว่างออกมาได้ทันทีเมื่อให้กระแสไฟผ่านตัวมัน  ไดโอดเปล่งแสงออกมาได้แบบมีคลื่นความถี่เดียว และเฟสต่อเนื่องกัน และเปล่งแสงได้เมื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นับเป็นแหล่งแสงที่สามารถทำงานร่วมกับวงจรไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม เนื่องจาก LED ให้แสงสว่างโดยการเคลื่อนไหวของอิเล็กตรอนในวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ LED จะไม่ไหม้ ไม่ร้อน และไม่ใช้สารที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ

หลอดไฟ LED มีจุดเด่นหลายอย่างด้วยกันนะคะ

  • ด้านความสว่าง สามารถส่องสว่างได้ทันทีโดยไม่ต้องกระพริบก่อน ในขณะเปล่งแสง สามารถการเปิดปิดหลอดไฟ LED ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลารอนาน
  • ทางด้านความประหยัด หลอดไฟ LED ใช้พลังงานต่ำแต่ให้ประสิทธิภาพการส่องสว่างที่สูงมาก ที่สำคัญไม่ปล่อยรังสี UV เป็นหลอดไฟที่ประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดไฟประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมด และการประหยัดเงินค่าไฟฟ้าจากการใช้หลอดไฟ LED ตั้งแต่ 15-75%
  • ด้านความคงทน โดยสามารถทำงานได้ยาวนานที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลอดชนิดอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้วมีอายุการใช้งาน สูงสุดถึง 50,000 ชั่วโมง หรือประมาณ 5 ปี ขึ้นไป
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ถือได้ว่าหลอดชนิดนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากความประหยัดด้านพลังงาน และความคงทนที่สามารถใช้ได้อย่างยาวนาน ทำให้ปริมาณขยะจากหลอดไฟลดลงด้วย การรณรงค์ส่งเสริมให้เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟประเภทต่างๆ ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แค่เปลี่ยนมาใช้หลอด LED ก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้แล้วนะคะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันราคาของหลอดไฟ LED จะมีราคาสูงกว่าหลอดทั่วไป แต่ถ้าเปรียบเทียบเรื่องระยะเวลาการใช้งาน นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆเลยค่ะ

หลอดไฟประเภทต่างๆ(ภาพที่037)

ส่วนชนิดประเภทของหลอดไฟ LED รวมถึงขั้วหลอดนั้น มีมากมายตามหลอดไฟสองกลุ่มแรก คือ หลอดมีไส้ และหลอดปล่อยประจุ ที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วนะคะ อย่างที่บอกว่าหลอดไฟ LED ได้ถูกพัฒนามาให้สามารถใช้งานทดแทนหลอดมีไส้ และหลอดปล่อยประจุ เมื่อเพื่อนๆรู้จักชนิดประเภทของหลอดไฟสองกลุ่มแรกไปแล้ว ก็สามารถประยุกต์มาเลือกใช้เป็นหลอดไฟ LED ใช้แทนนะคะ

นอกจากนี้หลอดไฟ LED ยังมีเป็นแบบเส้น หรือแบบสายยาง เช่น หลอด LED Cove Light, หลอด LED Rope Light หรือหลอด LED Strip Light สามารถใช้งานได้หลากหลายในหลืบโค้ง พื้นที่น้อย ใช้ตกแต่งในตู้โชว์

(หลอด LED Cove Light)
(หลอด LED Cove Light)
(หลอด LED Strip Light)
(หลอด LED Strip Light)

หลักๆแล้วหลอดไฟที่ใช้ภายในห้อง ในบ้าน หรือคอนโดเราก็จะมีอยู่แค่ หลอดไส้, หลอดทังสเตนฮาโลเจนแรงดันต่ำ, หลอดฟลูออเรสเซนต์ (แบบหลอดผอม), หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีหลอดไฟ LED มาทดแทนได้แล้วค่ะ ดีใจจริงๆเลย

ครั้งนี้ข้อมูลอัดแน่นไปซักหน่อย หวังว่าเพื่อนๆชาวอยู่สบายจะรู้จักหลอดไฟสำหรับใช้งานประเภทต่างๆได้ดีขึ้น และนำไปเลือกซื้อหลอดไฟมาใช้ได้อย่างเหมาะสมนะคะ หากมีข้อเสนอแนะหรือคำถามสามารถสอบถามเพิ่มเติมกันมาได้นะคะ ทีมงานอยู่สบายยินดีให้บริการค่ะ

ลากันที่ภาพแห่งความเสียใจภาพนี้ค่ะ

มัวแต่เลือกหลอดนู้นหยิบหลอดนี้ ขอมาแกะ…แกะ…แกะ ถ่ายรูปหลอดนี้ หันมาอีกที หลอดนู้นกลิ้งตกซะแล้ว ทำไงได้คะ??? ในเมื่อไปสวีทกันสองคนสี่มือ ไหนจะกล้อง ไหนจะช๊อป!!! ก็ต้องชำระเงินที่เคาน์เตอร์เก็บมาดูต่างหน้าที่ออฟฟิศตามระเบียบ ได้ของเพิ่มจากที่ลิสไว้เลย TT^TT  …

ขอขอบคุณ
: Philips Booth ที่บุญถาวร สาขาเกษตร-นวมินทร์ สำหรับสถานที่
: www.lighting.philips.com และ www.usa.philips.com สำหรับภาพประกอบบางส่วน
: www.tieathai.org เวปไซด์สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย สำหรับข้อมูลต่างๆค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ALL COMMENT (3)
  1. ดีครับมีประโยชน์มาก ลดการใช้พลังงาน ประหยัดเงิน

back to top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใด ๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก