การออกแบบตกแต่งห้องดูหนังฟังเพลงให้น่ารื่นรมย์
· 1 min readคงจะปฏิเสธไม่ได้นะคะ ว่ายุคนี้เป็นยุคดิจิตอล
การจะดูหนังและฟังเพลงในบ้านช่างเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส
แถมสื่อต่างๆ ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างก็มีการปรับให้การออกอากาศและมีสัญญาณภาพคมชัดมากยิ่งขึ้น
วันนี้ไอเดียอยู่สบายขอนำเสนอ หลักการง่ายๆในการจัดห้องดูหนังและฟังเพลง
เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมให้น่ารื่นรมย์มากยิ่งขึ้นค่ะ
1. การเลือกสีให้ห้องสำหรับดูหนังและฟังเพลง
สีที่เหมาะสมในการดูหนังหรือชมภาพยนตร์นั้น ได้แก่ สีที่ไม่สว่างมากนัก เช่น สีเอิร์ทโทน สีน้ำตาล สีดำ เป็นต้น เนื่องจากสีของผนังจะสะท้อนทำให้สีของภาพที่ได้มีการบิดเบือน ส่วนการใช้สีที่มีความสว่างมาก ผนังจะไม่ดูดซับแสง ทำให้มีแสงสะท้อนออกมารบกวนภาพมาก ในขณะที่สีที่ทึบกว่าจะดูดกลืนแสงไว้เกือบทั้งหมด ทำให้มีแสงสะท้อนออกมารบกวนภาพได้น้อย นอกจากนั้นลักษณะของพื้นผิวของสีที่มีความมันวาวก็สามารถรบกวนภาพได้มากกว่าสีที่มีลักษณะด้าน ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแสงเช่นเดียวกัน จากสาเหตุดังกล่าวสีที่ดีที่สุดจึงน่าจะเป็นสีดำ แต่คงไม่มีใครทาสีดำทั้งห้องหรอกใช่ไหมคะ โดยเฉพาะบ้านที่มีการใช้งานห้องเพื่อประโยชน์หลายอย่างร่วมกัน ดังนั้น การเลือกสีที่ชอบที่มีการสะท้อนของแสงน้อยที่สุด น่าจะเหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุดค่ะ
2. หลักสำคัญในการจัดแสงไฟภายในห้องดูหนังและฟังเพลง
การติดตั้งไฟภายในห้องที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ให้เกิดการสะท้อนแสงจากดวงโคมกับจอภาพ ซึ่งจะรบกวนสายตาของเรา แต่การชมภาพยนต์ในห้องที่มืดสนิทนั้น จะทำให้การใช้งานอื่นๆไม่สะดวก และยังเพิ่มความเครียดให้กับดวงตาในการจ้องจอที่มีความสว่างเพียงจุดเดียวนานๆ แนะนำให้ใช้ไฟซ่อน ไฟหลืบ ในฝ้าเพดาน ในผนัง หรือตามแนวบัวพื้น บัวผนัง นอกจากจะเพิ่มแสงสว่างภายในห้องแล้ว ยังสวยงามเพิ่มบรรยากาศอีกด้วย
หรือเลือกดวงโคมขนาดเล็กที่ส่วนของโป๊ะคลุมด้วยแก้ว หรือพลาสติก หรือผ้าชนิดที่ให้แสงผ่านได้ เพื่อช่วยในการกระจายแสงไปติดไว้บนผนัง สามารถเพิ่มแสงสว่างภายในห้องได้ อีกทั้งยังติดในตำแหน่งที่ใช้งานเพิ่มเติมเฉพาะ อย่างเช่น มุมมินิบาร์ ได้อีกด้วย
ขอย้ำอีกครั้งว่า จุดที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรให้แสงอยู่ในตำแหน่งที่ตกกระทบกับจอภาพโดยตรง ส่วนการเน้นแสงด้านหลังจอภาพโดยใช้ low voltage light และ LED เช่น rope light, cove light ก็สามารถลดความเครียดของสายตา รวมไปถึงสร้างบรรยากาศ และทำให้จอภาพยนต์ดูโดดเด่นขึ้นด้วยค่ะ
3. หลีกเลี่ยงเงาสะท้อนบนจอภาพ
นอกจากการติดตั้งดวงโคมไม่ให้ทำมุมสะท้อนกับจอภาพแล้ว ชาวอยู่สบายควรเลือกจอภาพในจุดที่แสงจากหน้าต่าง กระจก ไม่ทำมุมสะท้อนกับจอภาพด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี หรือสกรีนโปรเจคเตอร์ จะให้ดีควรเลือกใช้ม่านชนิดมี black out เพื่อป้องกันแสงอาทิตย์จากภายนอกส่องสะท้อนผ่านหน้าจอ หรือส่องเข้ามาภายในห้องให้เสียอรรถรสในการชมตอนกลางวันค่ะ
4. การจัดวางจอภาพ
จัดวางจอทีวี หรือสกรีนโปรเจคเตอร์ ให้มีความสูงในระดับสายตา โดยให้ระดับสายตามองตรงไปยังจุดกึ่งกลางจอภาพได้พอดี จะได้ไม่ต้องก้มหรือเงยเวลาชม อีกทั้งยังช่วยป้องกันอาการเมื่อยล้าบริเวณคอและบ่า ทั้งนี้ขึ้นกับความสูงของเก้าอี้ โซฟา ที่เลือกใช้ด้วยนะคะ ซึ่งโดยปกติความสูงที่นั่งจะต่างกัน 3 – 5 ซม. สำหรับจอภาพขนาดใหญ่ไม่ส่งผลมากค่ะ แต่สำหรับใครที่คิดจะนอนดูบนเตียง อย่าลืมที่จะตรวจเช็คความสูงของเตียง หรือความหนาของฟูกด้วยนะคะ ตรงนี้น่าจะต่างกันได้เป็น 10 ซม. เลยค่ะ เพื่อการจัดวางระดับความสูงของจอภาพให้เหมาะสม
เพิ่มเติมสำหรับสกรีนโปรเจคเตอร์ ตามปกติเครื่องโปรเจคเตอร์จะติดแขวนจากฝ้าเพดานมากกว่า จอรับภาพก็ต้องติดตั้งในตำแหน่งที่สูงตามไปด้วย จึงทำให้กึ่งกลางจอภาพอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ตรงนี้แนะนำให้เลือกเก้าอี้ หรือโซฟาในลักษณะเอนพนักพิงได้ หรืออาจจะเป็นเก้าอี้โยกกึ่งนั่งกึ่งนอน เพื่อความช่วยเรื่องระดับสายตาให้มองจอภาพได้พอดีค่ะ
5. ระยะห่างระหว่างที่นั่ง และจอภาพ
ที่จริงแล้วตำแหน่งของเก้าอี้ชมภาพยนต์ที่เหมาะสมในการนั่งชมก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละคน ดูได้จากการเลือกที่นั่งในโรงภาพยนตร์ บางคนชอบนั่งด้านหน้า ในขณะที่บางคนชอบนั่งด้านหลัง แต่การนั่งใกล้เกินไปก็มีผลเสียต่อสายตานะคะ นั่งห่างเกินไปก็จะทำให้ไม่เห็นรายละเอียดของภาพ ดังนั้น ควรนั่งในระยะที่ดูทีวีได้สบายตา ตำแหน่งการนั่งที่เหมาะสมจึงควรอยู่ระหว่าง 2 – 5 เท่าของขนาดหน้าจอ (ขนาดหน้าจอวัดจากความยาวเส้นทะแยงมุมของหน้าจอ) เพื่อช่วยถนอมสายตาค่ะ
ลองนำหลักการและเคล็ดลับง่ายๆบางประการไปปรับใช้กันดูนะคะ ไม่ว่าจะเป็นทีวีเครื่องเก่า หรือชุดโฮมเทียเตอร์สุดไฮเทค แม้กระทั่งชุดเครื่องเสียงคาราโอเกะสุดโปรด ก็จะทำให้ชาวอยู่สบายสามารถดูหนังและฟังเพลงที่ห้องได้อย่างสนุกและน่ารื่นรมย์ยิ่งขึ้นนะคะ
ถ้ามีโอกาสจะมานำเสนอไอเดียการจัดวางลำโพง และการจัดระบบเสียงให้กระหึ่ม แบบไม่ต้องไปง้อโรงหนังหรูๆแพงๆกันเลยทีเดียว แต่ครั้งนี้ต้องขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ปิดท้ายกันด้วยภาพบรรยากาศดูหนังแบบสุดชิว สวัสดีค่ะ