[Advertorial]
ทางเลือกในการมีบ้าน นอกจากจะซื้อบ้านจัดสรรจากโครงการต่างๆ ที่มีอยู่กันดาดดื่นแล้ว อีกทางเลือกนึงสำหรับคนที่มีที่ดินอยู่แล้วแต่ต้องการสร้างบ้านของตัวเองนั้นมีอยู่หลายวิธีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างสถาปนิกออกแบบและหาผู้รับเหมามาก่อสร้างตามแบบที่ดีไซน์ออกมา หรือถ้างบประมาณจำกัดและต้องการความสะดวกรวดเร็ว การซื้อบ้านสั่งสร้างตามแบบสำเร็จโดยใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ โดยแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
อย่างการจ้างสถาปนิกออกแบบให้ โดยหาผู้รับเหมาเอง มีข้อดีคือสามารถออกแบบสวยงามมีความเป็นตัวเองมากกว่า แบบบ้านมีความแตกต่างจากการซื้อบ้านจัดสรรทั่วไป ดีไซน์ได้จำเพาะเจาะจงและทำฟังก์ชั่นการใช้สอยได้ตรงใจมากกว่า ซึ่งก็อาจจะเหมาะกับคนที่มีงบประมาณและเวลามากพอสมควร แต่ก็อาจจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่บานปลาย หรือความเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้รับเหมาหนีงาน เป็นต้น ถ้าไม่อยากเจอปัญหานี้ก็ต้องคุมเข้มกันมากพอดู
แต่หากเป็นการสั่งสร้างโดยใช้แบบบ้านสำเร็จรูปที่ยกไปตั้งที่ไหนก็ได้ โดยเลือกแบบตามชอบ ที่บริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ ออกแบบไว้แล้วก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สะดวกและควบคุมงบประมาณได้ค่ะ ซึ่งถ้าอยากได้บ้านตามมาตรฐานที่ไม่ได้แปลกแหวกเว่อร์ ต้องการความมั่นใจได้มาตรฐาน การใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจนะคะ
ทางทีมงานอยู่สบายได้รับเชิญจากทาง ซีคอนโฮม (Seacon Home) ซึ่งเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยในไปเยี่ยมชมโรงงาน และขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนของบ้านสำเร็จรูปสั่งสร้าง เราจึงมาเขียนบทความเล่าให้อ่านกันว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้างค่ะ ถือว่าเอาไว้เป็นความรู้สำหรับคนที่มีที่ดินอยู่แล้ว ต้องการใช้บริการของบริษัทรับสร้างบ้านแนวนี้
ซีคอนโฮม นี้รับสร้างบ้านมาตั้งแต่ปี 2504 (เรายังไม่เกิดเลย) รวมแล้วมีประสบการณ์กว่า 56 ปี ลองผิดลองถูกมาเยอะ จนพัฒนาเป็น “ระบบซีคอน” ของตัวเอง โดยจะผลิตโครงสร้างบางส่วนจากโรงงาน เพื่อให้งานต่อการควบคุมมาตรฐานแข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายเพราะทำเป็นระบบอุตสาหกรรม ติดตั้งได้รวดเร็ว มีการรับประกันโครงสร้าง 20 ปี ซึ่งบริษัทในเครือก็มี CompactHome และ BudgetHome ค่ะ
ก่อนพาไปดูขั้นตอนต่างๆ เราขอปูพื้นความรู้ทั่วไปในการสร้างบ้านสักหลังให้เห็นภาพรวมกันก่อนค่ะ
ขั้นตอนการมีบ้านทั่วไป + ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายใน)
- คนที่อยากได้บ้าน ก่อนอื่นต้องต้องรู้ตัวเองก่อนว่า ต้องการอะไร ? พื้นที่เท่าไหร่ ? งบเท่าไหร่ เช่น ต้องการบ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ บนพื้นที่ 120 ตร.ม. งบ 1.5 ล้านบาท สไตล์บ้านอยากได้แบบไหนก็เก็บภาพเป็นตัวอย่างเอาไว้ เดี๋ยวนี้คลิกหาในอินเตอร์เน็ตแป๊บเดียวก็เจอค่ะ
- หาบริษัทสถาปนิกที่ถูกใจ บอกความต้องการและงบที่มี ให้ออกแบบบ้านให้ โดยมีค่าออกแบบประมาณ 3-7% ของราคาบ้าน แล้วแต่ตกลงราคา อันนี้ขึ้นอยู่กับผลงาน ความสามารถ รวมถึงความสนิทสนมกับสถาปนิกอีกที แต่ถ้าใครไม่มีงบ ก็ไปเอาแบบบ้านฟรีที่ กทม.แจกได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ดีเหมือนจ้างออกแบบหรอก ก็สถาปนิกเค้าศึกษาเรียนมาตั้งหลายปีเนอะ
- เมื่อได้แบบบ้านมาแล้วก็หาผู้รับเหมา ซึ่งมักคิดเป็นบาทต่อตารางเมตร ตีราคาค่าก่อสร้าง เช่น 18,000 บาท/ตร.ม. รวมวัสดุก่อสร้าง หรือ เราอาจจะหาซื้ออุปกรณ์เองแล้วจ้างเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว เป็นต้น
เมื่อลองคำนวนคร่าวๆ จะได้ค่าบ้าน 12,000 x 120 = 2,160,000 บาท รวมค่าจ้างสถาปนิก 5% = 108,000 รวมค่าใช้จ่าย 2,268,000 บาท ส่วนถ้าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน ขั้นตอนจะง่ายกว่า ตรงที่แค่จิ้มแบบบ้านตามงบประมาณ ที่เหลือก็ปล่อยให้บริษัทไปจัดการ สบายเรา 😛 ค่ะ
ส่วนประกอบบ้าน
ส่วนใหญ่โครงสร้างจะมีราคามาตรฐานไม่ต่างกันมาก ที่นิยมจะเป็นโครงการคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เพราะว่าโครงสร้างเหล็กอย่างเดียวค่อนข้างแพง แล้วก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากในบ้านเราด้วย ส่วนราคาบ้านนั้นจริงๆ จะตัดกันตรงวัสดุตกแต่งต่างๆ อย่างถ้างบน้อยปูกระเบื้องเกรดธรรมดา ผนังก็ฉาบเรียบทาสีไป ถ้ามีตังหน่อยวัสดุตกแต่งต่างๆ ก็จะดีขึ้น เช่น ส่วนพื้นก็ปูหินอ่อนได้ โดยแต่ละวัสดุก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ถ้าจะให้เล่าคงต้องแยกเป็นอีกบทความนึงไปเลย
- โครงสร้าง : เสาคาน-คอนกรีตเสริมเหล็ก / เสา-คานเหล็ก / ผนังรับน้ำหนัก
- ผนัง : ก่ออิฐมอญ / ก่ออิฐมวลเบา / ผนังสำเร็จรูป Pre-Cast
- พื้น : พื้นไม้ลามิเนต / หินแกรนิตโต้ / ไม้ปาร์เก้ ฯลฯ
- ผนัง : ฉาบปูนทาสี / หินตกแต่งต่างๆ ฯลฯ
- ผนังภายนอก : ฉาบปูนทาสี / หิน ฯลฯ
- ฝ้า : ยิปซั่มบอร์ด
- ประตู หน้าต่าง : อะลูมิเนียม / บานไม้ / uPVC
- หลังคา : กระเบื้องดินเผา / กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ / กระเบื้องลอนคู่ ฯลฯ
ขั้นตอนการสร้างบ้านโครงสร้างคสล.
เมื่อเห็นส่วนประกอบของบ้านแล้วก็มาทำความเข้าใจขั้นตอนการก่อสร้างกัน ว่าจะเอาชิ้นส่วนไหนลงก่อนกัน ทาง SEACONHOME ทำขั้นตอนต่างๆ ให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- ตรวจสอบระดับดิน, เตรียมไฟฟ้า-ประปาชั่วคราว , เตรียมที่พักคนงานและที่กองเก็บวัสดุ ตรวจสอบระยะร่นให้ถูกกฎหมาย
- ลงเสาเข็มตอก หรือ เสาเข็มเจาะ ไปตามตำแหน่งของแบบ , ตรวจสอบการรับแรงของเสาเข็มให้ได้มาตรฐานและตั้งฉากทุกต้น
- งานโครงสร้างจะสร้างจากล่างขึ้นบน เริ่มจาก เทฐานราก, หล่อคานคอดิน ,หล่อเสาชั้น 1 , ติดตั้งท่อน้ำยากำจัดปลวก , เทพื้นชั้นล่าง, เทพื้นชั้นบน, หล่อเสาคานชั้นบน ,ติดตั้งโครงสร้างหลังคาเหล็ก และงานโครงสร้างบันได
- งานสถาปัตยกรรมจะเริ่มจากบนลงล่าง เริ่มจาก มุงหลังคา, ก่อผนังพร้อมกับระบบไฟฟ้า, ท่อน้ำ, ติดตั้งระบบสื่อสาร, ระบบกันขโมย, ฉาบผนังด้วยปูน, ติดตั้งวงกบประตู-หน้าต่าง, ฝ้าเพดาน, ปูวัสดุพื้น, ใส่สุขภัณฑ์ต่างๆ ,ติดตั้งประตูหน้าต่าง, ทาสีภายนอก, ติดไฟ, ติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย, ตรวจสอบระบบไฟฟ้า, ทำความสะอาด ก็เป็นอันเสร็จ
- สุดท้ายก็เป็นการตรวจรับมอบบ้าน 😀