ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการ มูลนิธิประทีป-อัจฉรา ตั้งมติธรรม กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) โดยได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชน บ้านดอนกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พบว่าชาวบ้านกว่า 90 ครอบครัว ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ มีน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคแต่ละครอบครัวเพียง 2 ถังต่อ 3 วัน ไม่มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก ขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสม
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลัง เพราะต้องคอยฝนในการเพาะปลูกประกอบกับเป็น ที่ดอนที่แห้งแล้ง จึงมีรายได้ต่อครัวเรือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มูลนิธิประทีป-อัจฉรา ตั้งมติธรรม จึงได้ ให้ความช่วยเหลือ พัฒนาระบบน้ำ โดยการขุดเจาะน้ำบาดาล ติดตั้งปั๊มน้ำพร้อมแท้งค์น้ำ ทำให้ชาวบ้านได้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกในบริเวณบ้านอย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งได้บริจาคเครื่องทำบล็อกประสานดินซีเมนต์ และเงินทุนในการผลิต สร้างอาชีพ ซึ่งสามารถผลิตออกจำหน่าย สร้างรายได้ และอาชีพให้กับคนในชุมชนใช้ก่อสร้างบ้านให้ชุมชนได้ ซึ่งคุณประทีปออกแบบเองโดยใช้บล็อกประสานดินซีเมนต์ที่แข็งแรง ทนทาน เป็นฉนวนกันความร้อนในหน้าร้อน กันความหนาวในหน้าหนาว และมีสีในตัว ซึ่งคุณสมบัติข้อดีต่างๆ ดังกล่าว ดีกว่าคอนกรีตบล็อกที่ใช้กันทั่วไปมาก
มูลนิธิประทีป-อัจฉรา ตั้งมติธรรม ได้ชักชวน บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรทางธุรกิจของ บมจ.ศุภาลัย อาทิ บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามซานิทารีแวร์อินดัสทรี จำกัด ร่วมบริจาคสร้างศาลาประชาคมกลางหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมของชาวบ้าน ในการจัดกิจกรรมต่างๆ และการประชุมหมู่บ้าน และมีห้องที่ใช้เป็นสำนักงาน / ร้านค้าชุมชนได้
อีกทั้งยังได้สร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วยการ จัดกิจกรรมปลูกป่าชุมชนในโครงการ “ศุภพนาลัย” ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และชาวบ้านในชุมชน ร่วมมือร่วมใจกันปลูกต้นพะยูง และมะค่า จำนวนกว่า 2,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 10 ไร่
โครงการ “พัฒนาชุมชน บ้านดอนกระชาย” อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา นับเป็นรูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ทำให้ชาวบ้านในชุมชน มีอาชีพ รายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความหวังกำลังใจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความสุขที่ยั่งยืน หวังว่าตัวอย่างการพัฒนาชุมชนดังกล่าวข้างต้นจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาสำหรับการพัฒนาชุมชนในชนบทอื่นๆ ต่อไป