เปรียบเทียบแปลนบ้านกลางเมือง บทวิเคราะห์คุณภาพบ้าน AP ในแง่การจัดฟังก์ชั่นใช้สอยในบ้าน
· ~ 1 min readช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์อย่าง AP ประสบความสำเร็จมากกับแบรนด์บ้านกลางเมือง ซึ่งเป็นทาวน์โฮมที่ทำตลาดอยู่รอบๆใจกลางเมืองกรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่ถัดออกไปรอบนอกที่มีศักยภาพในการเติบโต ลักษณะของทาวน์โฮมบ้านกลางเมืองนั้นแต่ละทำเล แม้จะใช้ชื่อ “บ้านกลางเมือง” เหมือนกัน แต่ดีไซน์รูปร่างหน้าตา รวมถึงแปลนบ้านนั้นทำออกมาแตกต่างกันหลายแบบมาก บทความนี้เราเลยจะมาวิเคราะห์ คุณภาพบ้าน AP ในเรื่องรูปแบบการจัดฟังก์ชั่นของแปลนบ้านกลางเมืองแบบ 3 ชั้น ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกัน ถึงข้อเด่นข้อด้อยต่างๆ เพื่อเป็นกรณีศึกษาและก็จะได้เรียนรู้ร่วมกันครับ
โครงการที่ผมยกมาวิเคราะห์คุณภาพบ้าน AP ในบทความนี้ จะเลือกทาวน์โฮมบ้านกลางเมืองจาก 3 ทำเล คือ บ้านกลางเมือง ลาดพร้าว 71 , บ้านกลางเมือง พิบูลสงคราม และ บ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 ครับ โดยการเลือกวิเคราะห์คุณภาพบ้าน AP ในเรื่องของแปลนทั้ง 3 โครงการนี้เลือกที่มีหน้ากว้างเท่ากัน 5 เมตร ฟังก์ชั่นคล้ายกันคือ 3 ห้องนอน , 3 ห้องน้ำ และ 2 ที่จอดรถ โดยพยายามเลือกที่พื้นที่ใกล้เคียงกัน … บ้านกลางเมือง ลาดพร้าว 71 และ บ้านกลางเมือง พิบูลสงคราม นั้นพื้นที่ใช้สอยเท่ากัน 167 ตารางเมตร ส่วนบ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 พื้นที่ใช้สอยจะอยู่ที่ 178 ตารางเมตร มากกว่าอยู่นิดหน่อย
เริ่มกันที่แปลนชั้น 1 ครับ
ลักษณะการจัดแปลนชั้นล่างของบ้านกลางเมืองทั้ง 3 แบบ จะเหมือนกันก็คือ เน้นพื้นที่เปิดโล่งให้ส่วนรับแขก นั่งเล่นพักผ่อน และส่วนรับประทานอาหารอยู่โล่งเชื่อมถึงกันหมดและทะลุไปจนถึงหลังบ้าน โดยวางฟังก์ชั่นอย่างห้องน้ำ, ครัว และบันได เอาไว้ฝั่งเดียวกัน ครัวจะอยู่ติดด้านหลังให้ระบายอากาศได้ ในขณะที่ห้องน้ำจะอยู่ช่วงกลางตัวบ้าน เป็นห้องน้ำแบบแห้งอาบน้ำไม่ได้ครับ
เราลองมาดูเรื่องระยะของสเปซ เราจะเห็นว่าบ้านกลางเมืองพิบูลสงครามนั้นให้ระยะของสเปซในการนั่งพักผ่อนดูทีวีนั้นมากที่สุด ยาวเต็มตลอดความกว้างของหน้าบ้านที่ 5 เมตร ในขณะที่อีกสองแบบระยะจะหดสั้นลงมาเนื่องจากวางตำแหน่งทางขึ้นบันไดชั้น 2 เอาไว้ตรงหน้าบ้าน แต่ถ้าเราเทียบสเกลกันแล้วจะเห็นว่าบ้านกลางเมือง พิบูลสงครามที่ได้ระยะดูทีวีกว้างมากแต่จะถูกบีบฟังก์ชั่นอื่นๆให้จำกัดพื้นที่ลงมา เช่น ครัว และห้องน้ำให้แคบลงไปหน่อย ถ้าเทียบขนาดสัดส่วนห้องน้ำก็จะเล็กสุดกว่าใครเพื่อน และก็พื้นที่ส่วนห้องเก็บของจะหายไปครับ เป็นข้อดีข้อเสียที่ได้มากันคนละแบบ
สำหรับอีกจุดนึงที่แตกต่างกันคือครัว โดยแม้ว่าครัวจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่ของบ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 นั้นด้านหลังจะเปิดโล่งเอาไว้ เดินออกไปด้านหลังบ้านได้ ในขณะที่อีก 2 แบบ จะต้องเดินเข้ามาส่วนรับประทานอาหารก่อนแล้วค่อยออกหลังบ้าน ตรงนี้ทำให้ครัวของบ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 ทำหน้าที่เป็นสเปซกึ่งภายนอกและกึ่งภายใน (Semi-Outdoor Space) การระบายอากาศนั้นดีกว่าแน่ๆ แต่ในทางกลับกันก็อาจจะมีเรื่องฝุ่นเข้าามาได้มากกว่า ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยกว่า
จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการวิเคราะห์คุณภาพบ้าน AP ในเรื่องการจัดฟังก์ชั่น ก็คือการวางตำแหน่งบันไดครับ ตำแหน่งบันไดทางขึ้นจากชั้น 1 นั้นมีความสัมพันธ์กับทิศทางของฟังก์ชั่นชั้น 2 อย่างแยกกันไม่ได้ … ผมอยากให้เริ่มจากดูเปรียบบันไดของบ้านกลางเมือง ลากพร้าว 71 กับ สุขุมวิท 77 กันก่อนครับ ตำแหน่งบันไดที่ขึ้นจากชั้น 1 ไปชั้น 2 นั้น จะเหมือนกัน แต่การวางตำแหน่งขึ้นไปชั้น 3 นั้นคนละทิศทางกันเลย
บ้านกลางเมือง ลาดพร้าว 71 นั้น พอเดินขึ้นมาถึงโถงชั้น 2 แล้วจะขึ้นไปชั้น 3 ต่อได้เลย โดยใช้บันไดทางหลังบ้าน ซึ่งทำให้สามารถกั้นห้องนอนได้เต็มๆชั้น ในขณะที่ของบ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 นั้นจะต้องเดินวนกลับมาหน้าบ้าน แล้วค่อยเดินขึ้นบันได ซึ่งทำให้ได้ห้องนอนที่ชั้น 2 รวมถึงห้องน้ำ ขนาดเล็กกว่า แต่ได้สเปซส่วนอเนกประสงค์เปิดโล่งเข้ามาแทนที่ด้านหน้า ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่าแค่การวางตำแหน่งบันได ก็สร้างฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต่างความต้องการกันแล้วครับ
ในแง่ของการได้แสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาที่โถงบันไดนั้น แบบบ้านกลางเมือง พิบูลสงครามดูจะดีสุดครับ แต่ในเรื่องระยะการเดิน จะมีขั้นบันไดที่ถูกซอยเป็นบันไดแบบพัด เวลาเดินก็อาจจะไม่สบายเท่ากับแบบอื่นอีก 2 แบบ แต่ถ้าจะต้องเดินขึ้นลงจากชั้น 1 ไปชั้น 3 บ่อยๆ แบบบ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 จะมีระยะการเดินไกลที่สุด (ดูจากลูกศรสีเขียว) และจากการที่เป็นบันไดช่วงเดียวไม่มีชานพัก ก็อาจจะเดินเหนื่อยกว่าแบบอื่นอีก 2 แบบครับ
สำหรับการจัดห้อง Master Bedroom นั้น ผมชอบแบบบ้านกลางเมือง ลาดพร้าว 71 มากกว่าอีก 2 แบบ เพราะได้พื้นที่ walk-in closet มาเต็มที่ดี และได้ห้องน้ำในห้องนอนขนาดใหญ่และระบายอากาศออกทางด้านนอกได้ด้วย
ขึ้นมาดูคุณภาพบ้าน AP ในแง่การจัดฟังก์ชั่นต่อกันที่ชั้น 3 ครับ เมื่อกี้เราจะเห็นว่า บ้านกลางกลางเมือง ลาดพร้าว 71 กับ สุขุมวิท 77 มีบันไดทางขึ้นจากชั้น 1 มาชั้น 2 เหมือนกัน แต่พอตำแหน่งบันไดจากชั้น 2 ขึ้นชั้น 3 โครงการที่ลาดพร้าว 71 กลับไปเหมือนกัน พิบูลสงคราม คือจะขึ้นมาที่ตำแหน่งหลังบ้าน และแบ่งฟังก์ชั่นห้องเหมือนกัน โดยระหว่างห้องนอนก็มีห้องน้ำอยู่ตรงกลาง แต่จุดที่แตกต่างกันคือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โถงหน้าบันไดครับ แบบบ้านกลางเมือง ลาดพร้าว 71 นั้นจะไม่ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ตรงโถงบันไดนี้มากนัก แต่แบบบ้านกลางเมือง พิบูลสงครามจะได้ใช้สเปซตรงโถงไปเต็มๆ เนื่องจากตำแหน่งการเดินวนลงบันไดไม่ไปขวางทางกับที่ว่างตรงโถง ทำให้สามารถใช้ตั้งหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชาที่ใหญ่หน่อยก็ได้ ถ้าเป็นแบบอื่นนั้นจะใช้สเปซตรงนี้ไม่ค่อยได้ครับ ลองดูเส้นกราฟิกสีแดงที่วงไว้ จะเห็นว่าถึงแม้จะเป็นโถงเหมือนกัน แต่สเปซที่ใช้งานก็จะแตกต่างกันครับ
แต่สำหรับเรื่องขนาดห้องนอนต้องยกให้แบบบ้านกลางเมือง สุขุมวิท 77 ที่ทำได้ดีกว่า เพราะสามารถใส่เตียง King size ได้ทั้ง 3 ห้อง ไม่มีห้องนอนเล็กที่ใส่ได้แค่เตียงเดียว ซึ่งขนาดห้องแบบนี้ก็รองรับการเติบโตของลูกน้อยในบ้านได้ดีกว่าครับ ไม่งั้นเด็กๆอยู่ได้ พอตัวโตขึ้น ต้องการใช้สเปซมากขึ้นห้องเดิมก็อาจจะรูุ้สึกว่ามันเล็กไป
ที่เล่ามาข้างต้นก็เป็นการหยิบแปลนบ้านกลางเมืองของ 3 โครงการ มาวิเคราะห์คุณภาพบ้าน AP ให้เห็นว่าในแง่ฟังก์ชั่นการใช้งานแล้วแต่ละแบบรองรับพฤติกรรมต่างกันอย่างไร เพราะบางทีเวลาเราดูแปลนบ้าน ก็ไม่สามารถจะดูแค่จำนวนฟังก์ชั่นที่จัดเอาไว้ว่ามีกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ กี่ที่จอดรถได้ “ต้องดูที่ดีเทลการใช้งานและการจัดรูปแบบต่างๆด้วย” ไว้ทางเราจะทยอยนำแปลนโครงการอื่นๆที่ดูคล้ายกันมาวิเคราะห์เทียบกันให้อ่านเพลินๆอีกครับ ส่วนบทความวิเคราะห์คุณภาพบ้านเอพีในแง่ของการจัดฟังก์ชั่นและแปลนก็จบเอาไว้เท่านี้ก่อนครับ ^____^