จากประเด็นที่พูดกันมากถึงการใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา ม.44 ในการยกเว้นข้อบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 รวมถึง มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา อนุญาตให้วิศวกรและสถาปนิกจากประเทศจีนเข้ามาทำงานในโครงการนี้ได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในไทย ซึ่งที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในโลก Social
วันนี้ (21 มิ.ย.60) ทางสภาวิศวกร และสภาสถาปนิก จึงรีบจับมือกันแถลงการณ์ด่วน เกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งทางทีมงาน yusabuy.com เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ จึงได้เข้าไปรับฟังด้วย และสรุปข้อมูลมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันง่ายๆ ดังนี้ครับ
ตามคำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 ได้ระบุให้การรถไปแห่งประเทศไทยทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวแทนจากจีนมาดำเนินการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีงานที่ได้รับการยกเว้น 3 ประเภท คือ
- (1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา
- (2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา
- (3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกลรวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร
แต่ในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (construction) นั้นไม่ได้รับการยกเว้น ผู้รับจ้างงานก่อสร้างจะต้องมีใบอนุญาตจากสภาวิศวกร หรือจากสภาสถาปนิก เพื่อจะทำงานก่อสร้างโครงการ ซึ่งหากเป็นชาวต่างชาติ จะต้องขอรับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษ หรือระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ ซึ่งทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะช่วยเร่งรัด ดำเนินการ และอำนวยความสะดวกให้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าของโครงการ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
แม้คำสั่ง คสช. ม.44 จะยกเว้นข้อบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ทำให้ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่ในหลักการวัดผลของทั้งทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมยังคงอยู่ โดยวิศวกรของจีนที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้ ยังคงต้องมีการอบรมและทดสอบความรู้ความชำนาญในวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกดำเนินการ เพียงแต่ไม่ใช่ในรูปแบบของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยในแง่ของสาขาวิศวกรรม การทดสอบนี้สามารถทำได้จาก มาตรา 8 (4) ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ที่ระบุไว้ว่า สภาวิศวกรมีอำนาจและหน้าที่ในการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ทั้งนี้รูปแบบของการทดสอบความรู้ของวิศวกรชาวจีนที่จะร่วมในโครงการ กำลังอยู่ในระหว่างหารือและดำเนินการทั้งทางสภาวิศวกรของประเทศไทยและประเทศจีน เพื่อให้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน
ซึ่งการจัดให้มีการทดสอบตามมาตรา 8 (4) จะทำให้วิศวกรชาวจีนสามารถประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรมในประเทศไทยได้เฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังดำเนินการอยู่นี้เท่านั้น ไม่สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในโครงการอื่นๆ ในประเทศไทยได้ เพราะถือว่าไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยจะมีการโครงการและระยะเวลาที่การทดสอบครั้งนี้มีผลให้ทำงานได้อยู่ด้วย
ทั้งนี้ถ้าหากเกิดเหตุผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดจากการออกแบบ คำนวณ ฯลฯ ที่เป็นผลต่อเนื่องให้เกิดความเสียหายอื่นใด ทางวิศวกรจีนก็ยังจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและอาญาของไทยอยู่ดี เนื่องจากทาง ม.44 ไม่ได้ระบุยกเว้นความรับผิดเอาไว้
นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันมากก็เป็นเรื่องของการถ่ายโอนความรู้ทางเทคนิคต่างๆ ของจีนให้มาสู่คนไทย เพือให้เป็นประโยชน์ในอนาคต ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ได้เห็นพ้องตรงกันว่าจะต้องมีตรงจุดนี้ ซึ่งทางภาครัฐได้มอบหมายให้ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไปหารือกันว่าจะมีข้อเสนออะไรบ้าง ในเบื้องต้นมีข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
- จัดตั้งกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยี
- ให้คณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยีกำหนดแผนงานระยะสั้น-กลาง-ยาว
- กำหนดให้มีการจัดทำ Technology transfer progress report
- กำหนดให้มี counterpart engineer / architect อยู่ในส่วนงานที่สำคัญ
- ผลักดันสร้างองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ วิศวกรและสถาปนิกไทย / สมาคมวิชาชีพ / สถาบันการศึกษา เพื่อที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตัวเองในอนาคต
ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนไทยในทีมวิศวกรและสถาปนิก เบื้องต้นคาดว่าจะได้เข้าร่วมในทีมงานมากกว่า 100 คน จากตำแหน่งในสัญญาทั้งหมด 251 ตำแหน่ง (แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันตัวเลขแน่นอน) ซึ่งทางสภาวิศกรก็ถือว่าเป็นตัวเลขจำนวนที่น่าพอใจ
สำหรับในส่วนของงานสถาปัตยกรรม ที่มีสภาสถาปนิกเกี่ยวข้อโดยตรงในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา นั้น หลักๆ จะเป็นในส่วนของการออกแบบตัวสถานี และการออกแบบโรงซ่อมบำรุง ซึ่งเบื้องต้นจะต้องหารือกับฝ่ายสถาปนิกจีนถึงเรื่องการให้คำแนะนำและอบรมต่างๆ ในมิติที่เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ตลอดจนมิติด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งอาคารที่ก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา นี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคารของไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ทางภาครัฐจะได้ให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกร่วมอยู่ในช่วงเวลาที่มีการร่างสัญญาด้วย