ศุภาลัย (Supalai) เปิดแผนปี 61 เตรียมเปิด 35 โครงการ มูลค่า 40,000 ล้านบาท ไฮไลท์อยู่ที่ ศุภาลัย ไอคอน (Supalai Icon) บนที่ดินสถานฑูตออสเตรเลียเดิม
· ~ 1 min readศุภาลัย เผยแผนธุรกิจปี 2561 ชูกลยุทธ์ SUSTAINABLE GROWTH เติบโตอย่างมั่นคง ตั้งเป้ายอดขาย 33,000 ล้านบาท เตรียมเปิดโครงการใหม่ 35 โครงการ มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท พร้อมโชว์ยอดขายปี 2560 ทะลุเป้า 30,777 ล้านบาท เติบโต 27%
ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2560 เป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการแข่งขันกันมาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ตลาดอสังหาฯ เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น มีการเปิดตัวโครงการใหม่เป็นจำนวนมากทั้งคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ อีกทั้งร่วมทุนกับกลุ่มทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงการใหม่ และขยายตลาดสู่ลูกค้าต่างชาติมากขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจอสังหาฯ ในปี 2561 คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าปีก่อน ด้วยปัจจัยจากการส่งออกและการท่องเที่ยวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยทรงตัว ประกอบกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมีต่อเนื่อง ทำให้ตลาดผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและเริ่มกลับเข้าสู่การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
ผลประกอบการปี 2560
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลงานปี 2560 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ทางศุภาลัยสามารถทำสถิติใหม่ได้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ยอดเปิดตัวโครงการ, ยอดขาย, รายได้ ซึ่งเมืองปลายปีที่ผ่านมาโครงการศุภาลัย พรีเมียร์ เจริญนคร ก็สามารถขายหมดได้ภายในวันเดียว ทำให้ในปีที่ผ่านมา ศุภาลัยสามารถทำยอดขายได้กว่า 30,777 ล้านบาท เติบโต 27% เมื่อเทียบกับปี 2559 (YoY) ที่มียอดขาย 24,132 ล้านบาท และเติบโตเกินเป้า 14% เมื่อเทียบกับเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ 27,000 ล้านบาท
ซึ่งการเติบโตมาจากยอดขายโครงการคอนโดมิเนียม 15,440 ล้านบาท และยอดขายโครงการแนวราบ 15,337 ล้านบาท โดยมีการเปิดตัวโครงการทั้งหมด 20 โครงการ แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 15 โครงการ และคอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่ารวม 31,220 ล้านบาท
แผนธุรกิจปี 2561
สำหรับแผนธุรกิจปี 2561 ศุภาลัย ตั้งเป้าหมายยอดขาย 33,000 ล้านบาท และเป้าหมายรายได้ 26,000 ล้านบาท จากการเปิดตัวโครงการใหม่ 35 โครงการ แยกเป็นโครงการแนวราบ 30 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท และกำหนดงบประมาณการจัดซื้อที่ดินประมาณ 9,000 ล้านบาท
โดยไฮไลท์ของปีนี้อยู่ที่โครงการ Supalai Icon (ศุภาลัย ไอคอน) ซึ่งเป็นโครงการ mixed use บนที่ดินของสถานฑูตออสเตรเลียเดิม บนถนนสาทร ที่ทางศุภาลัยชนะประมูลมาเมื่อปีที่แล้ว ด้วยราคาเฉลี่ย 1.45 ล้านบาทต่อตารางวา มูลค่าโครงการประมาณ 18,000 ล้านบาท คาดว่าภายในจะประกอบด้วย คอนโดมิเนียม, อาคารสำนักงานให้เช่า, Serviced Apartment และพื้นที่ศูนย์การค้า (retail) โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาพัฒนาโครงการ ซึ่งโปรเจค ศุภาลัย ไอคอน (Supalai Icon) นี้ เป็นโครงการที่ทางศุภาลัยหมายมั่นปั้นมือที่จะขยายตัวเองสู่กลุ่มลูกค้าระดับบน รวมถึงสร้าง Recurring Income เพื่อกระจายความเสี่ยงของธุรกิจด้วย
สำหรับตลาดแนวราบนั้น ทางศุภาลัยเตรียมเปิดโครงการ Supalai Essence ลาดพร้าว (ศุภาลัย เอสเซ้นส์ ลาดพร้าว) เป็นโครงการบ้านเดี่ยว 3 ชั้น, บ้านแฝด 3 ชั้น และทาวน์โฮม 3 ชั้น บนพื้นที่กว่า 26 ไร่ ในซอยลาดพร้าว 107 ใกล้มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ซึ่งเป็นการขยาย segment ใหม่ในตลาดแนวราบของศุภาลัยในปีนี้ ซึ่งจะขยับเข้ามาใกล้เมืองมากยิ่งขึ้น และราคาสูงขึ้น
สำหรับตลาดบ้านแนวราบในต่างจังหวัด นอกจากจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่ทางศุภาลัยลงทุนอย่างต่อเนื่องแล้ว ปีนี้ทางศุภาลัยก็มีแผนขยายเพิ่มเติมไปยังจังหวัดเชียงรายด้วย
ในส่วนของโครงการคอนโดมิเนียมที่พร้อมโอนในปีนี้มีทั้งหมด 8 โครงการ ได้แก่
- Supalai Elite พญาไท จำนวน 258 ยูนิต มูลค่า 2,020 ล้านบาท
- Supalai Veranda รัตนาธิเบศร์ จำนวน 1,066 ยูนิต มูลค่า 2,430 ล้านบาท
- Supalai Monte II เชียงใหม่ จำนวน 738 ยูนิต มูลค่า 1,800 ล้านบาท
- Supalai City Resort แจ้งวัฒนะ จำนวน 752 ยูนิต มูลค่า 2,000 ล้านบาท
- Supalai Loft สถานีแคราย จำนวน 424 ยูนิต มูลค่า 1,100 ล้านบาท
- Supalai City Resort ชลบุรี จำนวน 590 ยูนิต มูลค่า 1,100 ล้านบาท
- Supalai Lite รัชดา-นราธิวาส-สาทร จำนวน 573 ยูนิต มูลค่า 2,360 ล้านบาท
- Supalai Loft สถานีตลาดพลู จำนวน 883 ยูนิต มูลค่า 2,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม ยังกล่าวเสริมถึงตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ ศุภาลัย บรรลุเป้าหมายยอดขายโต 15-20% ในทุกๆ ปีนั้น มาจาก 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาตัวสินค้าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิตอลที่ชัดเจนมากขึ้น, การพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การหาวิธีลดระยะเวลาในการขอกู้แบ้งค์, การเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยง, การใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุค 4.0 อย่างตรงจุด รวมไปถึงการศึกษากลุ่มลูกค้าต่างชาติเพื่อเปิดตลาดกับกลุ่มนี้ให้มากขึ้นด้วย