สรุปลำดับเหตุการณ์ “ค่าโง่” โฮปเวลล์ กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เป็นมายังไง
· ~ 1 min read
เสาโฮปเวลล์ที่ตั้งเป็นอนุสรณ์ริมถนนวิภาวดีรังสิตมายาวนานเกือบ 30 ปี ก็ได้ข้อสรุปวันนี้เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการเดิม ที่ให้กระทรวงคมนาคมต้องจ่ายเงินให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กว่า 11,888 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีครับ
ใครที่เกิดไม่ทันเรื่องนี้ ผมสรุป Timeline ทั้งหมดมาให้อ่านกันง่ายๆ ครับ
1
วันที่ 9 พ.ย. 2533 สมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหวัน โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีการเซ็นต์สัญญาก่อสร้างโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับ โดยตอนนั้นมีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 เจ้า คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จากฮ่องกง และบริษัท ลาวาลิน จากแคนาดา ซึ่งทางโฮปเวลล์ชนะไป มีแผนการก่อสร้าง 5 ระยะ รวม 60.1 กิโลเมตร ด้วยอายุสัมปทาน 30 ปี
2
ปี 2534 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ให้ตรวจสอบสัมปทานทั้งหมด และยกเลิกโครงการ จากนั้นก่อตั้งการรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาแทน (ปัจจุบันคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย)
3
ปี 2535-2539 กลับมาดำเนินงานต่อ สมัยนายกชวน หลีกภัย (สมัยที่ 1) และสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ติดปัญหาหลายอย่างจึงทำไม่สำเร็จ
4
ปี 2539-2540 หลังผ่านไป 7 ปี และก่อสร้างไปได้เพียง 13.77% บริษัทโฮปเวลล์ จึงตัดสินใจหยุดการก่อสร้างทั้งหมด ในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ในสัญญาไม่ได้ระบุว่าต้องก่อสร้างเสร็จเมื่อใด)
5
20 ม.ค. 2541 รัฐบาลบอกเลิกสัมปทานอย่างเป็นทางการ ในสมัยนายชวน หลีกภัย (สมัยที่ 2) ทำให้การรถไฟถือว่าโครงสร้างที่มีอยู่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ
6
บริษัท โฮปเวลล์ฟ้องร้องกระทรวงคมนาคม 5.6 หมื่นล้านบาท และกระทรวงคมนาคมฟ้องร้องโฮปเวลล์ 2 แสนล้านบาท
7
8 พ.ย. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมจ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี (ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท, เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท, เงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท)
8
ปี 2557 ศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาด ให้กระทรวงคมนาคมไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับโฮปเวลล์
9
โฮลเวลล์อุธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
10
22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ทำตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการเดิม ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องจ่ายเสียหายให้โฮปเวลล์ 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ทั้งหมดเป็นอันจบมหากาพย์ของโครงสร้างโฮปเวลล์ที่เป็นพยานหลักฐานถึงความอัปยศหลายอย่างของการเมืองไทยครับ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยที่เริ่มแรกการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งใจจะใช้บางส่วนของโครงสร้างนี้กับโครงสร้างรถไฟฟ้าใหม่ด้วย แต่สุดท้ายก็ได้ตัดสินใจว่าจ้าง บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รื้อถอนโครงสร้างเดิมทั้งหมดกว่า 500 ต้น เหลือไว้แต่ภาระที่ภาครัฐต้องจ่ายค่าค่าโง่ชดเชยคืนให้เอกชนไปครับ