CLASSROOM MAKEOVER เป็นโครงการที่โกลเด้นแลนด์ตั้งใจทำขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากเหล่าพันธมิตร เข้าไปพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้พิการทางสายตา เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กอย่างเต็มที่ และถือเป็นห้องเรียนตัวอย่าง เพื่อให้โรงเรียนผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศสามารถนำหลักสูตรนี้ไปปรับใช้ได้ สำหรับโรงเรียนต้นแบบที่โกลเด้นแลนด์เลือกพัฒนาคือ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา จ.ชลบุรี
สำหรับโครงการนี้ทางผู้บริหารของบริษัทฯ เล็งเห็นว่า The Best ของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน ครั้งนี้จึง มอบโอกาสให้แก่ “ผู้พิการทางสายตา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังขาดโอกาส เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาสู่ The Best ของเขาได้ และเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนเหล่านี้อีกทางหนึ่ง
โครงการนี้ขึ้น โกลเด้นแลนด์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของน้องๆ ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ดีที่สุดซึ่งการพัฒนาห้องเรียนครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การไปทาสี หรือเอาของเล่น เอาหนังสือไปใส่ แต่เป็นการคิดแบบครอบคลุมครบ 360 องศา ทุกตารางนิ้วของห้องเรียนถูกออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ซึ่งประเภทของผู้พิการทางสายตา (Type of Blindness) แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกตาบอดสนิท (Blindness) ผู้ที่มองเห็นได้น้อยมาก หรือไม่สามารถใช้สายตาให้เป็นประโยชน์ได้ ต้องใช้ประสาทสัมผัสอื่นแทนในการเรียนรู้ หรือทำกิจกรรม ส่วนประเภทที่สอง ตาบอดเลือนราง (Low Vision) ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นไม่รุนแรง ยังสามารถมองเห็นอักษรพิมพ์ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประสาทตาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ และบอดสนิทในที่สุด หากไม่ได้รับการกระตุ้นการใช้สายตาอย่างถูกวิธี
จากปัญหาเหล่านี้ของเด็กผู้พิการทางสายตา โกลเด้นแลนด์จึงได้มีการจัดทำพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถใช้สอนวิชาในการพัฒนาด้านต่างๆ ประกอบไปด้วย วิชาสัมผัส, วิชาแสง, วิชาลมหายใจ และวิชาเดซิเบรลล์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการเบื้องต้นของเด็กกลุ่มนี้อย่างบูรณาการ เพราะหากเด็กเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นการเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาไวยิ่งขึ้น
วิชา สัมผัส
คุณแบงค์ – เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ ผู้อำนวยการ บริษัท ครีเอทีฟครูส์ จำกัด สถาปนิกผู้ออกแบบ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ได้ออกแบบห้องที่มีผนัง 6 ด้าน ผสานกับหลักสูตรพรีเบรลล์ (Pre-Braille) ทำให้ทั้งห้องสามารถใช้เรียนรู้ได้รอบด้าน เริ่มโดยไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ แล้วก็มีผนังให้เด็กไปเกาะกับผนัง เล่นกับผนัง ตัวหมุดก็จะมีหลักสูตรต่างกัน มีอยู่ 6 แบบตามผนัง 6 ด้าน ตัวหมุดด้านแรก จะเริ่มที่ระเบียงก่อน ตัวหมุดจะมีขนาดเท่าๆกัน แล้วก็เป็นรูปทรงมาตรฐาน ทรงกลม ทรงเหลี่ยม สามเหลี่ยม ผนังที่สอง ก็เป็นเรื่องขนาดเริ่มต่างกัน แล้วก็มีตัวเลขให้นับ ผนังต่อไป ก็จะเป็นตัวหมุดมีเสียงอยู่ข้างใน เพราะว่าพอเราเริ่มจากสัมผัสแล้ว เราก็ต้องพัฒนาสัมผัสอื่นๆ ที่เด็กมีนอกจากการมองเห็น แล้วเสียงที่เราใช้ในหมุดก็จะเป็นของในชีวิตประจำวัน เช่น เกลือ พริกไทย อันนี้ประหลาดใจมาก ที่เด็กสามารถเขย่าพริกไทย เขย่าเกลือ แล้วแยกแยะได้ว่ามันไม่เหมือนกัน”