ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีผลการดำเนินงานที่เติบโตโดดเด่นกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรม ต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับในปี 2564 นี้ แม้จะเป็นอีกปีที่ภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่บริษัทยังคงเชื่อมั่น และวางเป้าหมายเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ มุ่งสู่การเป็น National Housing Company และเป็นผู้นำของตลาดแนวราบในช่วงราคา 2-8 ล้าน ครอบคลุมในทุกทำเลศักยภาพ โดยตั้งเป้าเป็นแบรนด์ในสามลำดับแรก ที่ผู้บริโภคจะต้องนึกถึงเมื่อมองหาที่อยู่อาศัยแนวราบในช่วงราคาดังกล่าว
สำหรับผลประกอบการปี 2563 เป็นอีกปีที่บริษัทสามารถทำผลงานได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเติบโตได้สูงกว่าภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกและไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 แต่สำหรับลลิลฯ ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็น Real Demand ตลอดจนมีการทำการวิจัยและตลาดเชิงลึกเพื่อหา Customer Insights
โดยพัฒนาและนำเสนอสินค้าในทำเลศักยภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าจึงช่วยให้บริษัทเป็นเพียงไม่กี่บริษัทที่ยังคงมีทั้งยอดขาย, ยอดรับรู้รายได้ และกำไรที่เติบโตในปี 2563 บริษัทสามารถทำยอดรับรู้รายได้ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดรับรู้ทั้งปีที่ 5,765 ล้านบาท เติบโตขึ้น 24.2% ในขณะที่มีกำไรสุทธิที่ 1,333.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.5%
ในส่วนของเป้าหมายธุรกิจในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 10-12 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 6,000-7,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายที่ 7,000 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ที่ 6,000 ล้านบาท โดยวางงบซื้อที่ดินไว้ที่ 1,000-1,200 ล้านบาท
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr.Chaiyan Chakarakul (Chairman of Executive Board, Lalin Property Plc.) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 ที่ผ่านมาว่าเป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากในการดำเนินธุรกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกหดตัวราว 3.5% ในขณะที่ประเทศไทย GDP ทั้งปีหดตัวไปที่ 6.1%
ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยของไทยก็ได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการหดตัวที่ต่อเนื่องจากที่มีการชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2562 ในแง่ของบริษัทเน้นกลยุทธ์การทำตลาดแนวราบที่เน้นลูกค้า Real Demand อย่างชัดเจน จึงได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าตลอดจนบริษัทได้พยายามคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนอง Customer Insights อย่างแท้จริงจึงทำให้บริษัทยังคงสามารถบริหารงานผ่านปีที่ยากลำบากไปได้ โดยยังมีผลประกอบการที่เติบโต แม้ในภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมที่ซบเซา
สำหรับในปี 2564 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ราว 3% บวกลบ ทั้งนี้ขึ้นกับการกระจายวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างทำได้รวดเร็วเพียงใดแม้ภาคอสังหาฯ ในปี 2564 จะต้องเผชิญปัจจัยลบหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนตัวตามภาวะเศรษฐกิจ, ระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้น, ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดีภาคอสังหาฯ มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ได้มีการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 รวมถึงสินค้าแนวราบยังได้รับปัจจัยหนุนจาก New Normal ที่ผู้บริโภคบางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูง มาซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้จริงกว่า ทั้งนี้แม้สภาวะตลาดจะไม่เอื้อมากนักแต่บริษัทยังมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 7,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,000 ล้านบาท
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr. Churat Chakarakul, Managing Director, Lalin Plc.) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2564 นี้ จะยังคงให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบที่เป็น Real Demand โดยมีแผนขยายโครงการใหม่ทั้งในทำเลใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ตลอดจนเป็นการเปิดโครงการใหม่เพื่อทดแทนโครงการเดิมของบริษัทที่กำลังจะปิดโครงการลง โดยในปี 2564 นี้ มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 10-12 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 7,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นราว 7% จากในปี 2563
ทั้งนี้เตรียมที่จะเปิดโครงการบ้านเดี่ยวหรู รูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ บ้านลลิล The Prestige ซึ่งเป็นออกแบบในสไตล์ French Colonial ระดับราคาจะอยู่ในช่วง 5 – 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้นจากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ภายใต้แบรนด์ Lanceo ซึ่งจะเน้นกลุ่มลูกค้าในช่วง 3-6 ล้านบาท
ในปีนี้จะเป็นการต่อยอดการใช้กลยุทธ์ Lifestyle Marketing โดยมุ่งเน้นการใช้สื่อ Digital Marketing เพิ่มมากขึ้นจากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีการยกระดับการจัดการข้อมูลสารสนเทศสู่ Digital Company อย่างเต็มรูปแบบมีการนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ในปีนี้ทางบริษัทจะมีการต่อยอดมาตรฐาน Lalin’s Quality of Living มีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation “Lalin, IL”) ภายในบ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น ระบบ IL-Smart & Security, IL-Ecosystem, และ IL-Lively & Healthy เป็นต้น ตั้งงบด้านการตลาดในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 3%-4%
ในส่วนของทางด้านการเงิน บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินอย่างมาก โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่ลดลงจาก 0.75 เท่า ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ระดับเพียง 0.67 เท่า ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ราว 1.4-1.5 เท่า อย่างมาก
และมีเงินสดสำรองเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจอีกราว 1,000 ล้านบาท ตลอดจนมีวงเงินสนับสนุนทางการเงิน (Committed Line) ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จากธนาคารพาณิชย์พันธมิตรต่างๆ อีกมากกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของบริษัท และความสามารถในการขยายธุรกิจได้อีกมาก โดยไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ในปี 2564 นี้บริษัทวางงบซื้อที่ดินไว้ที่ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและกำไรสะสมของบริษัท ตลอดจนมีการใช้หุ้นกู้ และแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน โดยมีการพิจารณาออกในจำนวนและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับการขยายธุรกิจ และการเติบโตในระยะยาวของบริษัท