ครม.อนุมัติสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คาดเปิดใช้ได้มิถุนายน 2561
· ~ 1 min readมีข่าวดีสำหรับใครที่รอรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ครับ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของรถไฟฟ้าส่วนต่อขายสายสีเขียวนี้ได้แล้ว ด้วยวงเงิน 38,165 ล้านบาท เลยเอาข่าวมาฝากกันครับ
ดูข้อมูลรถไฟฟ้าสายอื่นๆ >> สายสีส้ม(ฝั่งตะวันออก) // สายสีเหลือง
—————————————————————————————-
ครม.อนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเปิดประมูลคัดผู้รับเหมาเดือนธ.ค.นี้
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(15 ต.ค.) ที่ประชุมเห็นชอบให้รฟม.ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงินรวม 38,165 ล้านบาท โดยจะเปิดประกวดราคาเดือนธ.ค.นี้ เริ่มงานก่อสร้างปี 2557 โดยใช้เวลา 4 ปี
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมยังอนุมัติให้รฟม.ยกเว้นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และให้เปิดประกวดราคาแบบนานาชาติ โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า การจัดหาเงินเพื่อก่อสร้างโครงการนี้ได้กำหนดอยู่ในพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หากเริ่มก่อสร้างในปี 2557 จะเปิดให้บริการได้ในเดือนมิ.ย.2561 และโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) แล้ว
“ปีแรกที่เปิดให้บริการ จะคิดค่าโดยสารในอัตราแรกเข้า 13 บาท และเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อกิโลเมตร คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการวันละ 185,000 คน โดยโครงการมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 15.4%”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า เส้นทางนี้เป็นส่วนต่อขยายของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครหรือรถไฟฟ้าบีทีเอส กระทรวงคมนาคมควรเร่งเจรจากับกรุงเทพมหานคร(กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซี เพื่อกำหนดแนวทางการเชื่อมต่อการเดินรถ ทั้งโครงสร้างกายภาพและระบบตั๋วร่วม โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร และส่วนแบ่งรายได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออน์ไลน์
—————————————————————————————–
ตัวโครงการนั้นเป็นทางยกระดับทั้งหมด มีด้วยกัน 16 สถานีครับ โดยจะสร้างต่อจาก BTS หมอชิตไปเลย ตรงไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณซอยพหลโยธิน 55 จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไปเลียบกับแนวถนนฝั่งซ้ายจนถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือวงเวียนหลักสี่ และเบี่ยงกลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก (ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพ) ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (บริเวณสถานีคูคต) ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 130 ไร่
อาคารจอดแล้วจรนั้นจะมีอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 25 สามารถจอดรถได้ประมาณ 1,042 คัน และบริเวณใกล้กับสถานีตำรวจภูธรคูคต สามารถจอดรถได้ประมาณ 713 คัน
สถานีทั้งหมดมีดังนี้ครับ (สำหรับใครที่อ่านตัวหนังสือเล็กๆในรูปไม่ชัด ผมพิมพ์แยกออกมาให้อ่านกันง่ายๆครับ)
1 สถานีห้าแยกลาดพร้าว >> อยู่หน้าห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว
2 สถานีพหลโยธิน 24 >> อยู่ปากซอยพหลโยธิน 24
3 สถานีรัชโยธิน >> อยู่ตรงสี่แยกรัชโยธิน
4 สถานีเสนานิคม >> อยู่ปากซอยเสนานิคม
5 สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ >> อยู่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6 สถานีกรมป่าไม้ >> อยู่หน้าสำนักงานกรมป่าไม้
7 สถานีบางบัว >> อยู่บริเวณโรงเรียนบางบัว
8 สถานีกรมทหารราบที่ 11 >> อยู่บริเวณกรมทหารราบที่ 11
9 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ >> อยู่บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่
10 สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ >> อยู่บริเวณปากซอยพหลโยธิน 57
11 สถานีสายหยุด >> อยู่บริเวณซอยสาดหยุด
12 สถานีสะพานใหม่ >> อยู่บริเวณหน้าตลาดยิ่งเจริญ
13 สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช >> อยู่หน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชและกรมแพทย์ทหารอากาศ
14 สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ >> ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
15 สถานี กม.25 >> ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน
16 สถานีคูคต >> ตั้งอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรคูคต